13 เม.ย. 2554

วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง




                ปัญหาความขัดแย้งเป็นของคู่โลก  ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความแตกต่างกันอยู่  แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งให้ลดน้อยลงไปได้  การสร้างความเข้าใจในสาเหตุและกระบวนการของการเกิดปัญหาความขัดแย้ง  ตลอดจนแสวงหาความรู้หรือวิธีการใหม่ ๆ  อาจช่วยป้องกัน  ขจัด  หรือ  ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้บ้าง

                คำว่า   “ความขัดแย้ง (conflict)”  เป็นคำที่มีความหมายและใช้กันมาก  โดยทั่วไปหมายถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลเมื่อมีความคิดเห็นหรือความต้องการแตกต่างกัน   โดยที่คู่กรณีไม่สามารถจะตัดสินใจหรือตกลงหาข้อยุติอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
                ความขัดแย้งแบ่งเป็น  3   ประเภท  ได้แก่

                1. ความขัดแย้งต่อตนเอง  :  ทางจิตวิทยาถือเป็นความล้มเหลวของกลไกขั้นพื้นฐานของการตัดสินใจซึ่งบุคคลแต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันในการเลือกกระทำการต่าง ๆ  ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลจะต้องตัดสินปัญหา  เช่น  ต้องการซื้อรถหรือจะเอาเงินมาปลูกบ้าน  อยากมีแฟนแต่กลัวเรียนไม่จบ   อยากไปเที่ยวแต่กลัวทำงานส่งอาจารย์ไม่ทัน  เป็นต้น

                2. ความขัดแย้งภายในกลุ่ม  :  เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลมีความต้องการ  ความคิดเห็น  ทัศนคติ  และค่านิยมไม่เหมือนกัน  อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม

                3. ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม  :  เป็นความขัดแย้งที่แต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน   ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละกลุ่มจะต้องรักษาผลประโยชน์ไว้ให้กับกลุ่มของตนเอง

                ยุทธวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
                โดยทั่วไปแล้วคนทุกคน  มักจะประสบกับความขัดแย้งไม่ประเภทใดก็ประเภทหนึ่งอยู่เสมอ  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ  เมื่อบุคคลประสบปัญหาความขัดแย้งแล้วแก้ไขด้วยวิธีใด  ในเรื่องนี้ได้มีผู้ศึกษาและรวบรวมยุทธวิธีแล้วนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

                1. วิธีปฏิเสธหรือถอนตัวจากปัญหาความขัดแย้ง  คือทำไม่รู้ไม่ชี้  ไม่ยอมรับปัญหานั้น ปล่อยให้เรื่องดำเนินไปเองแล้วแต่สถานการณ์จะพาไป
                2. วิธีกลบเกลื่อนปัญหา  คือ  พยายามหาทางกลบเกลื่อนไม่ให้ปัญหานั้นโผล่ขึ้นมาอย่างชัดเจน  เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง
                3. วิธีใช้อำนาจในการแก้ปัญหา  ได้แก่การใช้อำนาจของตนเข้าไปแก้ปัญหานั้นโดยตรง
                4. วิธีใช้การประนีประนอม  หรือเจรจาตกลงในการแก้ปัญหา  กล่าวคือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  พยายามแก้ไขหรือลดความขัดแย้ง  โดยการพยายามประนีประนอมขอร้องหรือเจรจาตกลงกับอีกฝ่ายหนึ่ง
                5.  วิธีร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ได้แก่  การที่ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและช่วยเหลือกันแก้ปัญหา  เพื่อให้ความขัดแย้งนั้นหมดไป

                ยุทธวิธีทั้ง  5  ประการข้างต้นเป็นวิธีการที่บุคคลทั่วไปมักใช้กันอยู่เสมอซึ่งจะเห็นว่าวิธี ที่  1  และวิธีที่  2   คือการหนีหรือกลบเกลื่อนปัญหา  ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งนั้นหมดไป  เพียงแต่ชะลอไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งเป็นจุดเด่นขึ้นมา    ความขัดแย้งนั้นอาจจะระเบิดขึ้นมาอีกก็ได้   สำหรับวิธีที่  3  คือการใช้อำนาจ  อาจเป็นวิธีที่ได้ผล  คู่กรณีอาจจำเป็นต้องยอมจำนนเพราะอำนาจ  แต่ความขัดแย้งภายในใจจะยังมีอยู่  ซึ่งอาจจะเกิดเป็นปัญหาในภายหลังได้   วิธีที่  4  นับเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง  แต่ถึงกระนั้นก็ตามการเจรจาก็ย่อมหมายความว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมด้วย เงื่อนไข  แต่อาจเกิดความไม่พอใจเคลือบแฝงอยู่  ดังนั้นวิธีที่  5  คือวิธีที่ทั้ง  2  ฝ่ายหันหน้าเข้าช่วยกันแก้ปัญหาโดยต่างก็คำนึงถึงความต้องการของกันและกัน   จึงนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดใน  5  วิธีนี้  เพราะเป็นวิธีการที่ได้มาจากความพึงพอใจของทั้ง  2  ฝ่าย  อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันน้อยเพราะยากแก่การปฏิบัติเนื่องจากจะ หาคู่กรณีที่มีความเข้าใจกันและกัน  และพร้อมที่จะหันหน้าเข้าหากันได้ยาก

                  นอกจากยุทธวิธีดังกล่าวแล้ว  ยังมีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งแบ่งออกเป็น  3  วิธีใหญ่  ๆ  โดยมองในแง่ของผลที่คู่กรณีจะได้รับในการแก้ปัญหา  ยุทธวิธีดังกล่าวคือ

                1. ยุทธวิธีแบบแพ้ - ชนะ
                    การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้   คือการที่ต่างฝ่ายต่างจะเอาชนะกันและกัน  เพื่อให้ฝ่ายตนประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวังเอาไว้   การแก้ปัญหาแบบนี้มักจะยุติลงตรงที่ว่า  ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้  อย่างไรก็ตามผลมักจะปรากฏอยู่ว่า  ในกรณีแพ้-ชนะนี้  “ผู้แพ้”  มักจะไม่ค่อยยอมรับในความเป็นผู้แพ้ของตน  บางกรณีถึงกับเคียดแค้น  อาฆาต  พยาบาทและหาทาง “แก้แค้น”  ในโอกาสต่อไป

                2. ยุทธวิธีแบบแพ้ – แพ้
                    การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้คือการที่ทั้ง  2  ฝ่ายต่างก็ไม่ได้ตามที่ตนต้องการ  หรือแต่ละฝ่ายได้ส่วนที่ตนเองต้องการกันข้างละนิด   การแก้ปัญหาแบบนี้มักจะใช้วิธีออมชอมกัน   เพราะต่างฝ่ายต่างถือคติที่ว่า  “ได้ครึ่งหนึ่งยังดีกว่าไม่ได้เลย”  หรือไม่ก็อาจหาคนกลางช่วยตัดสินใจ

                3. ยุทธวิธีแบบชนะ – ชนะ
                    การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้  คือการที่ทั้ง  2  ฝ่าย  ต่างก็ได้ตามจุดประสงค์ที่ตนเองต้องการ   โดยวิธีร่วมมือกันแก้ปัญหา   และพยายามหาวิธีการที่จะสามารถช่วยให้ทั้ง  2  ฝ่าย  ได้บรรลุผลสำเร็จตามที่ตนเองต้องการ  ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้ผลสำเร็จจะได้แก่ทั้ง  2  ฝ่ายไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ
                    จากยุทธวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  3  แบบดังกล่าวมาแล้วจะเห็นว่า  แบบของการแก้ปัญหาที่มักจะใช้หรือพบกันบ่อย ๆ  คือ  แบบแพ้ – ชนะ  และแบบแพ้ – แพ้  แต่จากผลของการทดลองและวิจัยค้นคว้าในยุคใหม่ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ให้ความเห็นและยืนยันว่าแบบชนะ – ชนะ  เป็นวิธีการที่ดีที่สุดและให้ผลดีกว่าในระยะยาว

บทสรุป                 มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างที่สุด  ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ  ส่วนมากที่เกิดขึ้นประจำนั้น  มีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจกันของมนุษย์นั่นเอง
                ความสุขอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์เรา  ก็คือความสุขอันเกิดจากความสามารถที่จะเข้ากันได้หรือทำตัวให้เข้ากันได้  และมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น

ไม่มีความคิดเห็น: