14 เม.ย. 2554
คิดใหญ่แต่ไม่ควรเริ่มต้นใหญ่
ในสมัยเด็กๆ ผมได้สังเกตเห็นความแตกต่างของวิธีคิด และวิธีการดำเนินชีวิตของคนสองกลุ่มคือ
กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่มักจะอาศัยอยู่ในตลาด อาชีพที่ทำส่วนใหญ่คือ เปิดร้านขายของ
และกลุ่มคนไทยที่มีอาชีพทำการเกษตร มีที่ดินซึ่งได้มาจากมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ
ตอนแรกคนไทยเชื้อสายจีนมักจะเริ่มต้นจากร้านขายของชำเล็กๆ หรือไม่ก็ปลูกผักขาย
ที่อยู่ก็อาจจะเป็นแค่เพิงพอที่จะหลบแดดหลบฝนได้เท่านั้น คนกลุ่มนี้พยายามเก็บหอมรอบริบ
จนค่อยๆ เติบโตขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย แต่เติบโตอย่างมั่นคง จากกระต๊อบ กลายเป็นห้องแถว
จากห้องแถวกลายเป็นตึกสองชั้นสามชั้น จนกลายเป็นกิจการใหญ่โต
ในขณะที่คนไทยกลุ่มที่สอง ที่เคยทำสวนทำไร่จากฐานะคหบดีใหญ่ในหมู่บ้าน เมื่อที่ดินถูกแบ่งให้ลูกให้หลานทอดแล้วทอดเล่า มรดกทางทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เรือกสวนไร่นา บ้านหลังใหญ่ๆ ก็จะเหลือน้อยลงๆ ทุกรุ่น สุดท้ายหลายคนก็ต้องขายที่ขายทางไป บางคนก็คิดการใหญ่อยากจะร่ำรวยเหมือนคนไทยเชื้อสายจีนบ้าง อยากจะผันตัวเองจากเกษตรกรมาเป็นพ่อค้า แต่คนกลุ่มที่สองนี้ มักจะเริ่มต้นทำอะไรเกินตัว เพราะค่านิยมของคนไทยโดยเฉพาะคนในชนบทมักจะคำนึงถึงหน้าตามากกว่าเรื่องอื่น เช่น ถ้าจะทำกิจการต้องเปิดตัวให้ใหญ่โต บางคนเริ่มเปิดกิจการใหญ่โตมีตึก 5 ชั้น แต่ด้วยความที่ไม่ได้เกิดจากจากสายเลือดของคนทำมาค้าขายที่แท้จริง ทำให้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดประสบการณ์ในการค้าขาย สุดท้ายตึกที่เคยเริ่มต้นทำพิธีเปิดซึ่งมี 5 ชั้นๆ ค่อยๆ ลดลงมาทีละชั้น สุดท้ายเหลือเพียงขายก๋วยเตี๋ยวแบบรถเข็น หรือไม่ก็กลับเข้าไปรับจ้างทำสวน เหมือนรุ่นปู่ย่าตายาย
ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ยังมีให้เห็นอยู่มากในสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมของปัญญาชนคนทำงานแบบเราๆ พูดง่ายๆ คือคนที่ทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนี่แหละ ผมก็ยังมีความเชื่อต่อไปอีกว่า ลูกจ้างทุกคนมีฝันที่อยากจะเติบโตก้าวหน้าใน หน้าที่การงาน และบางคนยังฝันถึงการเป็นเจ้าของกิจการ แต่...จะมีสักกี่คนที่สามารถสร้างฝันให้เป็นจริงได้
เจ้าของกิจการหลายคนเริ่มต้นชีวิตจากการเป็นลูกจ้างระดับล่างสุด แต่ด้วยความมานะพยายาม สุดท้ายก็กลายเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จได้ ในขณะที่ลูกจ้างอีกหลายคนที่คิดใหญ่ฝันใหญ่ แต่ไปไม่ถึงดวงดาว เหตุผลสำคัญคือ “ ใจร้อน ” ไม่อยากเห็นตัวเองเป็นเจ้าของกิจการตอนอายุหกสิบ โดยเฉพาะลูกจ้างรุ่นใหม่ เช่น พอคิดอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ แทนที่จะหาประสบการณ์จากการทำงานให้มากพอ ก็คิดที่จะเติบโตทางลัด โดยการร่วมลงทุนกับเพื่อนๆ หรือการนำเงินก้อนหนึ่งที่ได้จากการออกจากงานไปลงทุนทำกิจการ คนที่โชคดีก็พอมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไปไม่รอด เพราะขาดประสบการณ์ เพราะคิดใหญ่และทำใหญ่เท่ากับที่คิด เผลอๆ ทำใหญ่กว่าที่คิดเสียอีก เหมือนกับคนมีเงินอยู่สองแสนบาท คิดจะตกแต่งบ้านใหม่ให้อยู่ในงบสองแสน เชื่อหรือไม่ครับว่าพอลงมือทำจริงๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมักจะเกินงบ หรือที่มักจะเรียกกันว่างบบานปลายนั่นเอง เช่นเดียวกันกับการทำสิ่งต่างๆ ถ้าเราคิดใหญ่ระดับไหน สิ่งที่ลงมือทำจริงมันจะยิ่งมีภาระใหญ่กว่าที่เราคิด เพราะบางเรื่องเรายังคิดไม่ถึง จะเจอก็ต่อเมื่อลงมือทำผมอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นว่าการที่เราเร่งรีบทำอะไรเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น เหมือนกับการที่เราเพาะชำต้นกล้า เรารีบนำหน่อหรือกล้าไม้เหล่านี้ออกไปปลูกในแปลงปลูกจริง ก่อนเวลาที่เหมาะสม
แล้วโอกาสที่จะรอดจากแสงแดด ศัตรูพืชคงจะยากมากนะครับ ดังนั้น ถ้าใครคิดจะทำอะไร แน่นอนว่าการคิดใหญ่เป็นสิ่งที่ดี แต่การเริ่มต้นหรือลงมือทำใหญ่เลยนั้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกันสำหรับข้อคิดเกี่ยวกับการคิดใหญ่ แต่ไม่ควรเริ่มต้นใหญ่ ผมใคร่ขอแนะนำเป็นข้อๆดังนี้
• คิดให้ใหญ่ คิดให้กว้าง คิดให้ลึก
ถ้าเราต้องการจะทำอะไร ขอให้คิดถึงภาพใหญ่ไว้ก่อนเสมอ เพราะการที่เราสามารถมองภาพใหญ่ได้ จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะทำได้ดีกว่า เช่น ถ้าเราต้องการจะเปิดกิจการร้านขายกาแฟเล็กๆ สักหนึ่งร้านในหมู่บ้าน เราไม่ควรมองภาพแค่ร้านขายกาแฟ ที่มีอยู่ในหมู่บ้านที่เราอยู่เท่านั้น แต่จะต้องมองไกลออกไปข้างนอก มองกว้างไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับร้านขายกาแฟ มองลึกลงไปถึงเทคนิคกลยุทธ์ในธุรกิจกาแฟให้ได้ก่อน ก่อนที่จะคิดลงมือทำ ถ้าเราเป็นลูกจ้าง แล้วเราฝันอยากจะเป็นผู้บริหารระดับสูง
เราก็ไม่ควรมองแค่เพียงตำแหน่งบริหารในองค์กรของเรา แต่จะต้องมองออกไปยังองค์กรอื่น
มองไปยังสายงานอื่น มองลึกลงไปถึงแนวทางในการไต่เต้า ไปสู่ตำแหน่งระดับสูงเหล่านั้นก่อนเสมอ
• คิดจากเล็กไปหาใหญ่ และคิดจากใหญ่กลับมาหาเล็ก
เทคนิคการคิดใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะคิดสวนกลับ
ใครเริ่มคิดที่ภาพใหญ่ ก็ควรจะคิดสวนทางกลับมาหาภาพเล็กอีกครั้งหนึ่ง
ใครเริ่มคิดจากภาพเล็กก่อน ก็ควรจะขยายความคิดออกไปสู่ภาพใหญ่ด้วย
เพราะการคิดแบบนี้จะช่วยกรองความคิดของเรา ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสิ่งที่เราต้องการจะทำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของความฝัน(ภาพใหญ่) กับความจริง(สิ่งเล็กๆ ที่เราจะเริ่มทำ)ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าจะให้ดีไปกว่านี้ ก็ควรจะคิดย้อนไปย้อนมาระหว่างภาพใหญ่กับภาพเล็กหลายๆ รอบ เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดมากยิ่งขึ้น
• ทำพิมพ์เขียวทางความคิดจากเล็กไปสู่ใหญ่
เมื่อได้ผลึกทางความคิดมาเรียบร้อยแล้ว ก็ให้วางแผนจัดทำพิมพ์เขียวของการนำความคิดไปปฏิบัติ
โดยมีการกำหนดลำดับขั้นตอนของกิจกรรมแต่ละอย่างไว้อย่างเป็นระบบ
อะไรควรจะทำก่อน-หลัง เหมือนกับเราทำพิมพ์เขียว เพื่อสร้างบ้านสักหลังหนึ่งที่จะต้องให้โครงสร้างทั้งหมด และรู้เลยว่าจะต้องเริ่มต้นทำจากตรงไหนก่อน
และเฟสแรกที่จะทำทำแค่ไหน ถ้าจะต่อเฟสสองจะสามารถต่อกันได้อย่างไร
• คิดใหญ่ แต่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ก่อน
ถ้าพิมพ์เขียวที่ทำไว้ดี การลงมือทำก็ง่ายขึ้น
ในขณะที่ลงมือทำกิจกรรมแต่ละชิ้นแต่ละอย่าง
ขอให้จดจ่อกับกิจกรรมนั้นๆ อย่ามัวแต่ไปกังวลกับภาพใหญ่เสียก่อน
เหมือนกับการที่เราเริ่มลงมือก่ออิฐที่ละก้อน ขอให้จดจ่อกับการก่ออิฐก้อนนั้นๆ
อย่าเพิ่งไปคิดว่าเราก่ออิฐก้อนนี้แล้ว บ้านเราจะออกมาสวยหรือไม่
สรุป การคิดใหญ่ ไม่คิดเล็กนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราขาดด้อยประสบการณ์
เราไม่ต้องการความเสี่ยงในชีวิตมาก ก็น่าจะเริ่มลงมือทำจากสิ่งเล็กๆ ก่อน ด้วยเหตุผลสองประการคือ
ถ้าสิ่งเล็กๆ ที่ลงมือทำประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยเป็นเชื้อเพลิงกำลังใจให้ชีวิตเรา
ยิ่งงานชิ้นเล็กๆ ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ เชื้อเพลิงกำลังใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
ในทางกลับกันถ้างานชิ้นเล็กๆ ประสบความล้มเหลวก็ไม่เกิดผลกระทบต่อความฝันของเรามากนัก
ยังพอมีเวลาแก้ตัว ยังไม่ท้อเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับการคิดใหญ่ ทำใหญ่และล้มเหลวครั้งใหญ่
ดังนั้น การคิดใหญ่แต่เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ก่อนก็น่าจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่าน สร้างเส้นทางสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนะครับ
ที่มา : http://www.tienscnx.com/
ป้ายกำกับ:
บริหาร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น