14 เม.ย. 2554
5 หลักธรรม นำสู่ความสุขความเจริญ
ธรรม ๕ อย่างที่ทำให้เกิดกุศลขึ้นในใจตลอดไปทุกขณะ
ธรรม ๕ ตัวนี้พระพุทธเจ้าตรัสเสมอ ถือว่าเป็นธรรมะคู่ชีวิตของทุกท่าน เหมือนอยู่ในใจตั้งแต่ท่านเกิดขึ้นมา ถ้าใครทำได้ ชีวิตจะเจริญงอกงาม มีความสุขทุกเวลาและอายุก็จะยืนด้วย
๕ อย่าง อะไรบ้าง
๑. ปราโมทย์
ท่านให้มีความร่าเริงเบิกบานใจตลอดเวลา เรียกว่าปราโมทย์ เป็นธรรมที่สำคัญมากถือว่าเป็นธรรมพื้นจิต ถ้าใครอยากเป็นชาวพุทธที่ดี ต้องพยายามสร้างปราโมทย์ไว้ประจำใจให้ได้
พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสไว้ในธรรมบทว่า “ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ” ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์จักกระทำความสิ้นทุกข์ได้ ใครที่ใจมีปราโมทย์อยู่เสมอจะหมดความทุกข์ บรรลุนิพพานได้
ชาวพุทธบางทีก็ไม่ได้นึกถึง มัวไปคิดอะไร จะทำโน่นทำนี่ที่ยากเย็น แต่ไม่ได้ทำของง่ายๆ คือปราโมทย์ในใจของเรานี้ ใจที่จะไปนิพพานได้ต้องมีปราโมทย์ ถ้าไม่มีปราโมทย์ก็จะไม่ได้ไป เพราะฉะนั้นต้องทำกับใจของตัวให้ได้ก่อน ใจมีปราโมทย์ คือใจที่ร่าเริงเบิกบานแจ่มใส จิตใจที่ไปนิพพานเป็นใจที่โล่งโปร่งเบา ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ปราโมทย์ทำให้ไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ญาติโยมต้องทำใจให้ได้ปราโมทย์ทุกเวลา คือร่าเริง เบิกบาน แจ่มใส เป็นพื้นจิตประจำใจ
๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้ม
ข้อนี้เจาะลงไปในแต่ละเรื่องแต่ละกิจ เวลาทำอะไร เช่นอย่างโยม ทำครัว เรารู้อยู่แล้วว่ากำลังทำบุญทำกุศล เดี๋ยวอาหารเสร็จก็จะได้ถวายพระ เลี้ยงพระ พระท่านก็จะได้ฉัน ฉันแล้วท่านก็จะได้มีกำลังไปทำหน้าที่การงาน ทำศาสนกิจ ได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ แหม เราได้มีส่วนช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เสริมกำลังพระให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรือง มองเห็นโล่งไปหมด การที่เราทำทุกอย่างนี่ก็จะเป็นไปเพื่อผลดีอย่างนั้น นึกขึ้นมาก็อิ่มใจปลื้มใจ ตอนนี้ปัญญาก็มาด้วย คือเวลาทำอะไรเราก็มองเห็นว่าผลดีจะเกิดอย่างนั้นๆ แม้แต่กวาดบ้าน ทำครัวหรือล้างจาน หรือหุงข้าว ทุกขณะโยมนึกอย่างนี้แล้วก็อิ่มใจ ปลื้มใจ เรียกว่ามีปีติ เมื่อมีปราโมทย์เป็นพื้นใจแล้วก็ให้มีปีติ ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่าง แม้แต่ทำงานทำการ อย่างคุณหมอรักษาคนเป็นโรค ทำให้คนเจ็บไข้หายป่วยแข็งแรง พอนึกถึงภาพของเขาที่จะแข็งแรง เขาหายป่วยสบายแล้วก็นึกไปถึงสังคมที่ดีเข้มแข็ง นึกไปอย่างนี้ ไปปลูกต้นไม้ก็มองเห็นว่าจะได้ช่วยประเทศชาติ หรือมาช่วยวัดให้เป็นที่รื่นรมย์ร่มรื่น เป็นที่เชิดชูจิตใจคน ให้เขามีความสุข เวลาทำงาน ใจของเราอาจจะเครียดได้ ใจไม่สบาย แต่ถ้าเรานึกไปไกลโดยมองเห็นผลที่จะเกิดขึ้นในทางที่ดี ปีติจะเกิด พอปีติอิ่มใจมาแล้วก็ได้เครื่องบำรุงตัวที่ ๒
๓. ปัสสัทธิ แปลว่าความผ่อนคลาย
ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องการกันมาก มันตรงข้ามกับความเครียด
คนเดี๋ยวนี้ทำงานแล้วเครียด เพราะมีความกังวล เพราะมีโลภะ มีโทสะ มีความกระวนกระวายอะไรต่างๆ มาก แต่ถ้าใจนึกถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นก็จะทำให้สบายใจ ไม่เครียด ทำงานด้วยความผ่อนคลาย ใจก็สงบเย็น เป็นปัสสัทธิ พอใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลายด้วย กายกับใจนี่มีจุดบรรจบกันที่ปัสสัทธิ ถ้ากายเครียด ใจก็เครียด ถ้าใจเครียด กายก็เครียด ทีนี้พอใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลายด้วย เรียกว่ามีปัสสัทธิ
๔. สุข
พอมีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิแล้วก็มีความสุข ซึ่งแปลง่ายๆ ว่าความฉ่ำชื่นรื่นใจ คือใจมันรื่นสบาย ไม่ติดขัด ไม่มีอะไรบีบคั้น มันโล่ง มันโปร่ง มันคล่อง มันสะดวก ตรงข้ามกับทุกข์ที่มันติดขัด บีบคั้น ขัดข้อง
๕. สมาธิ
ถึงตอนนี้ใจก็อยู่ตัวและตั้งมั่น ไม่มีอะไรมารบกวน ไม่กระสับกระส่าย ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวาย
ที่ว่าอยู่ตัวคือใจกำลังคิดกำลังทำอะไรก็อยู่กับสิ่งนั้น การที่ไม่มีอะไรมารบกวนได้เลย ใจอยู่ตัวตั้งมั่นอย่างนี้ เรียกว่าสมาธิ พอใจเป็นสมาธิซึ่งเป็นที่ชุมนุมของสิ่งที่ดีงาม ธรรมที่เป็นบุญกุศลก็มาบรรจบรวมกันที่นี่หมด
ขอทวนอีกครั้งหนึ่งว่า
๑) ปราโมทย์ ความร่าเริงแจ่มใสเบิกบานใจ
๒) ปีติ ความเอิบอิ่มใจปลื้มใจ
๓) ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ
๔) สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ
๕) สมาธิ ความอยู่ตัวของจิตใจที่ตั้งมั่นสงบแน่วแน่
พอได้ ๕ ตัวนี้แล้วก็สบายแน่เลย
ห้าตัวนี้ท่านเรียกว่าธรรมสมาธิ คือความที่ธรรมะซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญมาแน่วแน่รวมกัน
เรียกว่าประชุมพร้อม ต่อจากนี้ก็เกิดจิตตสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้วก็เอามาใช้ชวนเชิญปัญญาให้มาทำงานได้ คือเอามาใช้เป็นบาทฐานของการคิดเมื่อจิตใจผ่องใสก็คิดโล่ง คิดโปร่ง คิดได้ผลดี
พระพุทธเจ้าจึงให้ใช้สมาธิเป็นฐานของปัญญาต่อไป หรือแม้จะทำงานทำการอะไร ใจเป็นสมาธิแล้วก็ทำได้ผลดี
ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ก็จะเป็นการสร้างสรรค์อย่างครบวงจร ทั้งสร้างสรรค์ชีวิตจิตใจ
และสร้างสรรค์สังคมไปด้วยกันพร้อมกัน สร้างสรรค์ข้างในสอดคล้องกันไปกับการสร้างสรรค์ข้างนอก
(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ ชีวิตที่สร้างสรรค์ สดใส และสุขสันต์)
จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
ที่มา : http://www.manager.co.th/
ป้ายกำกับ:
ธรรมะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น