14 เม.ย. 2554

As the world turns

             

             เมื่อเพื่อนชาวอังกฤษของผม ตั้งคำถามด้วยความเป็นห่วงว่า ประเทศของคุณเป็นอะไรไป เชื่อหรือไม่ว่าผมไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ในทันที  และทำให้ต้องหยุดคิดว่า เราจะฟื้นคืนมาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะผมเชื่อว่า แม้เราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ หรือ ปฏิรูประบบการศึกษา จนสำเร็จได้ในพริบตา ก็ไม่ได้หมายความว่า นั่นคือคำตอบที่ทำให้เราเดินอย่างมั่นคงได้ในอนาคต
               ผมไม่ใช่คนมองโลกแง่ร้ายอย่างน่ากลัว หรือมองโลกในแง่ดีจนมองไม่เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราจะต้องเผชิญและต้องดำเนินชีวิตต่อไปนั้น ถือเป็นความท้าทายต่อคำถามที่ว่าเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต เพราะเมื่อทุกๆ ประเทศในโลก พร้อมใจกันแสวงหาจุดแข็งของตนเองเพื่อต่อสู้ในเวทีการค้า และแม้กระทั่งเพื่อนบ้านเราก็เร่งฝีเท้าเดินห่างจากเราไปทุกที  สภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้เราต้องกลับมาสำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อมองหาข้อได้เปรียบอันแข็งแกร่ง และความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น

               แม้ว่า ผม และ TCDC (Thailand Creative & Design Center) จะทำงานด้วยความเชื่อมั่นในความเก่งฉกาจของคนไทยมาตลอด และมุ่งหวังให้เกิดการตกผลึกระหว่างความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ และทักษะ มาสรรสร้างเป็นสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยม แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์โลกที่เราต้องรู้เท่าทัน  ดังนั้น ภายใต้เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้จึงไม่ใช่คำตอบที่ถาวรหรือตายตัวต่อความไม่แน่นอนของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากแต่เป็น “พื้นฐาน” ที่ผมเห็นว่าจำเป็นที่เราต้องมีไว้นั่นเอง

               เมื่อความรู้ได้กลายมาเป็นสินค้า และแรงงานคุณภาพสูงสามารถหาได้ด้วยต้นทุนเพียงน้อยนิดจากการผลิตของบริษัทในอเมริกาและยุโรป โดยการว่าจ้างกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโตอย่าง บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (ประเทศกลุ่ม BRIC) เป็นผู้ผลิต กลุ่มประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตเหล่านี้ ไม่ได้เก็บเกี่ยวแค่เม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่หากตักตวงเอาประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการมาเป็นต้นทุนอีกด้วย  แน่นอนว่ามาถึงวันนี้ กลุ่มประเทศผู้ว่าจ้างเกิดความแคลงใจในความสามารถที่เพิ่มขึ้นของผู้รับจ้างเหล่านี้  และกำลังมองหาหนทางใหม่ๆ ที่จะหนีกับดักการผลิตของตนเอง  แนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จึงเกิดขึ้น เพราะแม้แต่ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ก็ยังคงต้องการสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ ความสามารถในการผลิตไอเดียอย่างต่อเนื่อง

               มีการสันนิษฐานว่า การสร้างนโยบายที่สนับสนุนแนวคิดใหม่นี้ จะทำให้หลุดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งปวง เพิ่มการจ้างงาน สร้างสังคมแห่งความสุข แต่มุมมองเช่นนี้อาจเกิดจากความเข้าใจที่ตึ้นเขินเกินไปของแนวคิดดังกล่าว

               สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวนั้น ไม่ทำให้เกิดมูลค่า แต่ต้องนำไปใช้ในบริบททางธุรกิจที่ถูกต้อง บนฐานของความรู้  และมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือช่วย อีกทั้งการสร้างมูลค่าและคุณค่าได้ จะต้องอาศัยทักษะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว
               เราจึงลองสำรวจปัจจัยพื้นฐานที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ความสามารถพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเป็นระบบกันกระเทือนให้เรายามที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: