14 เม.ย. 2554
จิตหดหู่แก้อย่างไร?
ถาม – มักเป็นคนมีจิตใจหดหู่ รู้ทั้งรู้ว่าไม่เป็นมงคลกับชีวิต ควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ?
ตัวคุณคืออะไร? ลองตัดชื่อแซ่ ตัดตัวตน ตัดวิธีคิด รวมทั้งตัดเหตุการณ์ทั้งหลายที่รายล้อมคุณออกไปให้หมด
เหลือแต่เพียงสภาพจิตอย่างเดียว จะพบความจริงประการหนึ่งนะครับ
นั่นคือจิตเรามีเบิกบาน มีหดหู่สลับกันได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องมีเหตุร้ายแรงให้เศร้าใจมากมาย
แค่เหนื่อยๆ หน่อย นั่งรถเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง จิตใจก็มีสิทธิ์หดหู่ลงได้แล้ว
ประเด็นคือแต่ละคนมีอาการ ‘ลาดลงต่ำ’ ของจิตใจผิดแผกแตกต่างกัน
บางคนหดหู่เดี๋ยวเดียวก็กลับระเริงร่าได้ใหม่
แต่บางคนหดหู่แล้วกลายเป็นเรื่องยาว แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวเคยยิ้มให้แล้วมาไม่ยิ้มสักทีหนึ่งก็คิดมาก
แช่อยู่กับความเสียใจว่าเขาไม่ยิ้มให้ อย่างนี้ก็มี
และมีอยู่มาก เพียงแต่ไม่ค่อยเล่าสู่กันฟังเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย
หรือบางทีตัวเองก็เห็นเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเสียจน จำไม่ได้ว่าเริ่มหดหู่ ตั้งแต่เจอภาพเสียงชนิดใดกระทบกระทั่งจิตใจ
เราถึงมักได้ยินคนบ่นเปรยให้เพื่อนฟังทำนอง ‘ไม่รู้เป็นอะไร เซ็ง เบื่อไม่มีสาเหตุ’
ความหดหู่ต่อเนื่องยืดยาวจนจำสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้นี่แหละ ทำให้คนเบื่อหน่ายกับการมีชีวิต
และคิดสั้นมานักต่อนัก ลองมาดูอุปนิสัยที่เราๆ ทำกับใจตัวเองแล้วหดหู่เก่งกันดีกว่า
๑) ชอบเหม่อ
ประเภทว่างเป็นไม่ได้ ชอบทอดตาไกลๆ จะฝันก็ไม่ฝัน จะคิดธุระปะปังให้เป็นเรื่องเป็นราวก็ไม่คิด
ชอบรู้สึกอยู่เรื่อยๆ ว่าชีวิตว่างเปล่า ไม่มีความหมาย แล้วก็ไม่อยากเติมค่าอะไรลงไปให้ชีวิตตัวเองเต็ม
ถ้าเป็นแบบนี้ก็ขอให้ดูบรรดาสัตว์เลี้ยงใกล้ตัว ลองนั่งสังเกตพวกมันสักพัก จะเห็นชีวิตว่างเปล่าขนานแท้
พวกนั้นไม่มีอะไรทำจริงๆ ครับ วันๆ มีหน้าที่เคลื่อนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง
พอเห็นความเหม่อลอยของพวกมันด้วยความตระหนักว่า ไม่มีวันพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้อย่างที่เราสามารถทำ
ก็อาจเกิดกำลังใจคิดอยากทำชีวิตให้ดีกว่าพวกมัน อันนี้ถ้าลองทำดูจะเห็นว่าเกิดพลังกระตุ้นที่ดีมาก
ไม่ใช่จะให้ดูถูกตัวเอง เปรียบเทียบตัวเองเท่ากับสิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่าเราหรอกนะครับ
แต่การเห็นเพื่อนต่างภพต่างภูมิที่เขาเคราะห์ร้าย ไม่มีวาสนาเท่าเรา
จะค่อยๆ ทำให้เริ่มเห็นค่าศักยภาพความเป็นมนุษย์ขึ้นมารำไร
๒) ชอบจมอยู่กับอดีต
ประเภทเหตุการณ์ผ่านมา ๒๐ ปี ยังอุตส่าห์ขุดขึ้นมาคิดเสียดาย คุ้ยขึ้นมาพูดด่าสาดให้คนใกล้ชิดรู้สึกผิด
คนแบบนี้เท่าที่ผมเห็นนะครับ นอกจากจะเหม่อลอย หดหู่บ่อยแล้วยังเจ้าโทสะ เหมือนมีไฟกรุ่นอยู่ในอก
หรือลุกเป็นเปลวขึ้นมาจากกระหม่อมทีเดียว และมีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง คนชอบฝังใจอยู่กับอดีตนั้น
มักบ่นหาถึงอนาคตที่ไม่มีวันมาถึง คือชอบหวังอะไรลมๆ แล้งๆ สมมุติอะไรที่เกินตัวและเป็นไปไม่ได้จริงเสมอ
พูดให้เห็นภาพง่ายๆ และรวดเร็วที่สุดคือทั้งชีวิตไม่เคยมีวันนี้ มีแต่เมื่อวานกับพรุ่งนี้เท่านั้น
หากยอมรับว่าเป็นคนประเภทที่ว่านี่ก็ขอให้เร่งแก้ไขนิดหนึ่ง พูดกันตรงๆ ตามชื่อคอลัมน์นะครับ
จิตแบบนี้ถ้าตายไปก็ไม่พ้น ต้องเป็นเปรตจำพวกที่นึกว่าตัวเองยังไม่ตาย
เนื่องจากจิตวิญญาณเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่น และบดบังไม่ให้เห็นอะไรที่เป็นปัจจุบันเอาเลย
เคยคิด เคยกลุ้ม เคยพูดซ้ำๆ ซากๆ อย่างไร ตายไปก็จะคิด จะกลุ้ม จะบ่นเพ้อซ้ำๆ ซากๆ อย่างนั้นร่ำไป
แต่ขณะยังมีชีวิตมนุษย์อยู่นี่ พอปรับปรุงแก้ไขได้ก็ปรับปรุงเสียเถิด
หัดคิดเรื่องวันนี้ หัดพูดถึงสาระประโยชน์เฉพาะหน้า
พอจะหวนกลับไปคิดมากเรื่องเก่าๆ ก็กลับมาอยู่ตรงหน้าใหม่
ทำตัวไม่ให้ว่าง แล้วจะพบว่าเกิดความแจ่มกระจ่างทางใจมากขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์หดหู่ไม่กลับมาครอบงำอีกง่ายๆ
๓) ชอบมองโลกในทางลบ
ประเภทเห็นข่าวดาราเตียงหัก ก็มานั่งวิตกว่าเหตุแบบเดียวกันอาจจะเกิดขึ้นกับเราบ้าง หรือไม่ก็เอาแต่นั่งอ่าน
นั่งขนหัวลุกอยู่ทั้งวันเกี่ยวกับเรื่องโลกแตก กลัวสงครามโลกครั้งใหม่ปะทุ กลัวน้ำมันจะแพงขึ้นถึงลิตรละ ๔๐
กลัวต่อไปเชื้อโรคจะหอบมาตามลมหรือแฝงตัวอยู่กับอาหารการกิน อันที่จริงก็ต้องเห็นใจคนยุคเราเหมือนกัน
เพราะเรื่องดีๆ แม้ยังมีอยู่มากก็ไม่เป็นข่าว แต่จะเป็นข่าวก็เฉพาะจำพวกเรื่องที่ทำให้หมดกำลังใจจะอยู่ต่อ
ถ้ารู้ตัวว่าบริโภคข่าวด้านลบมากๆ แล้วติดค้างคาใจ ไพล่ไปทึกทักว่าเรื่องร้ายๆ จะต้องเกิดขึ้นกับเราด้วย
ก็ขอแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวโทรทัศน์ให้น้อยลง ถ้าจะอ่านหรือดูก็คัดๆ เลือกๆ หน่อย
ไม่ใช่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องอ่านมันทุกข่าว หรือติดตามข่าวร้ายเป็นซีรีส์กันทุกวัน
จากนั้นหันไปอ่านหรือหันไปดูข่าวที่เป็นมงคลเสียบ้าง มองตามจริงบ้างว่าแง่ดีในโลกนี้ยังมีให้มองอีกมาก
พอเริ่มมองโลกภายนอกในทางบวก ก็จะค่อยๆ หันมาเริ่มมองโลกภายในไม่เป็นลบตามกันไปเอง
เพื่อตัดเหตุแห่งความหดหู่ลงไปได้อีกข้อ
๔) ชอบความเหงาเศร้าโดยไม่รู้สึกตัว
ประเภทนั่งคนเดียวเฉยๆ แล้วน้ำตาพานจะไหลเป็นทางเหมือนไม่มีสาเหตุ
หรือฟังเพลงเพื่อคนอกหักแล้วร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร
ขณะเดียวกันก็พอใจกับห้วงภาวะเช่นนั้นโดยไม่อยากแก้ไขดัดแปลง
ถ้ารู้ตัวว่าเป็นประเภทนี้ขอให้สังเกตว่ามีแนวโน้มจะสงสารตัวเอง ไม่พบใครที่จริงใจด้วย
หรือถึงพบก็ไม่รู้สึกว่าใช่ ไม่อาจให้ความอบอุ่นกับเราได้
ลองดูดีๆ จะพบว่าความเหงามี ๒ ประเภท คือเหงาแล้วโหยหาความอบอุ่นแบบจะขาดใจตาย
กับเหงาแล้วมีความสุขแบบสะใจแฝงอยู่ลึกๆ แต่ไม่ว่าเหงาประเภทไหน ก็พ่วงมาซึ่งความหดหู่เก่งเสมอ
และออกจะแก้ยากกว่าข้ออื่นๆ สักหน่อย เนื่องจากคนเรามักเรียกร้องให้มีใครมาเห็นใจ มาให้ความอบอุ่น
โดยตัวเราเป็นผู้รับหรือผู้ตอบสนอง
ขอให้ลองอย่างนี้ดู คือกลับขั้วสักนิด คิดเป็นผู้เริ่มเห็นใจก่อน ให้ความอบอุ่นกับคนอื่นก่อน
ยังมีผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากมายก่ายกองที่รอรับ ‘การให้ก่อน’ จากเราอยู่เสมอ
ถ้าทำแค่ครั้งสองครั้งอาจจะยังไม่เห็นผลอะไร
แต่ถ้าทำประจำจนเป็นกิจวัตรกระทั่งรู้สึกถึงความสว่าง ความอบอุ่นที่แผ่ออกมาจากจิตคิดให้ของตนเอง
เมื่อนั้นคุณจะไม่ปรารถนาความรักความอบอุ่นจากภายนอก
ที่อยู่กับเราได้แบบไม่คงเส้นคงวาหาความแน่นอนยากอีกเลย
จะยึดเอารัศมีความอบอุ่นจากใจตัวเองนี่แหละ เป็นที่พึ่งเที่ยงแท้ถาวร
อาการเหม่อซึมหรือหดหู่จะมาจากมูลเหตุใดก็ตามที สามารถแก้ไขสภาพเฉพาะหน้าได้ง่ายที่สุดคือ
รู้เท่าทันว่าเงื้อมเงาความหดหู่ กำลังเข้าครอบงำใจเราแล้ว แทนที่จะติดนิสัยยอมโดนครอบอย่างเคยๆ มา พอรู้สึกตัวก็หันไปทำกิจธุระอันใดอันหนึ่งทันที ยิ่งถ้าเป็นธุระที่ทำให้ใจเบา ใจสว่างด้วยก็ยิ่งเยี่ยม
พูดง่ายๆ ลองหมั่นทำบุญและอ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ
จะเห็นเองว่าความมืดย่อมทนต่อแสงสว่างไม่ได้เป็นธรรมดา ความสว่างมา ความมืดต้องหายไปแน่ๆครับ
ข้อมูลจาก หนังสือเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่ม ๒ โดย ดังตฤณ
ที่มา : http://dungtrin.com/
ป้ายกำกับ:
ธรรมะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น