22 เม.ย. 2554

กุศลกรรมบท ๑๐

กุศลกรรมบท ๑๐
ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง

ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างไร

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความสะอาด มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวกมาลัยหมายไว้
ความสะอาดทางกาย ๓ อย่างเป็นอย่างนี้แล

ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างไร

คือบุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คืออยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า "ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น" บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า "ไม่รู้" หรือรู้ก็กล่าวว่า "รู้" ไม่เห็นก็กล่าวว่า "ไม่เห็น" หรือเห็นก็กล่าวว่า "เห็น" ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๓.เป็นผู้ละขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนดประกอบด้วยประโยชน์
ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่างเป็นอย่างนี้แล

ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างไร

คือบุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพยอันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ไทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา"
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือไม่มีจิตคิดร้ายว่า "ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท มีสุข รักษาตนเถิด"
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า "ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาและมีแล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก"
จุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จจะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จจะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็ฯธรรมสะอาด และเห็นเหตุก่อให้เกิดความสะอาด
จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จึงปรากฎมีทั้งเทวดาและมนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทกัมมารบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเรายิ่งนัก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต"
จันทสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย
ทสกนิบาต

พระไตรปิฎกภาษาไทย

ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หน้า ๓๑๙-๓๒๔

ไม่มีความคิดเห็น: