14 เม.ย. 2554
7 ลักษณะหัวหน้าสร้างคน
“หากงานที่เราให้คนรุ่นหนุ่มทำนั้นง่ายและสบายเกินไป ที่จะทดสอบและท้าทายความสามารถ
คนรุ่นหนุ่มเหล่านี้ มักจะเข้าสู่วัยกลางคนที่ไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว นักบริหารทุกคนมักจะบ่นอยู่เสมอว่าคนหนุ่มที่มีไฟแรง มักจะกลายเป็นไม้ที่มอดไฟเร็วเกินไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว เขาควรจะตำหนิตัวเองว่าเป็นคนหรี่ไฟของคนเหล่านั้นลง ด้วยการให้พวกเขาทำงานเล็กๆ และไม่ท้าทายเท่าที่ควร”
ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ได้กล่าวข้อความข้างต้นไว้อย่างน่าสนใจยิ่งในหนังสือ The Effective Executive สะท้อนให้เห็นว่า คนทำงานแต่ละคนในองค์กรเป็นเหมือนต้นไม้ที่พร้อมจะเติบโตขึ้น
มิใช่เครื่องจักรที่ทำเพียงสิ่งเดิมๆ ตามที่กำหนดไว้ ดังนั้น หากเราไม่เลี้ยงดูต้นไม้ ปล่อยให้มันทำหน้าที่ของมันไปวันๆ ในที่สุดย่อมเหี่ยวเฉา เช่นเดียวกับคนทำงาน หากไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ได้รับการหยิบยื่นโอกาสให้ทำงานใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดคนทำงานย่อมเป็นเหมือนต้นไม้ที่แคระแกร็น และก่อประโยชน์ต่อองค์กรได้ในขอบเขตที่จำกัด การพัฒนาทีมงานจึงเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับหัวหน้างานทุกคน หัวหน้าต้องพัฒนาทีมงานโดยตระหนักว่า การพัฒนาทีมงานจะช่วยให้แผนกหรือฝ่ายของเราผลิตงานได้มากขึ้น งานขยายและพัฒนาได้มากขึ้น หัวหน้างานสามารถขยับขยายไปทำงานที่สำคัญกว่าเดิมได้มากขึ้น ผลสรุปคือองค์กรประสบความสำเร็จ เพราะได้งานเพิ่มขึ้นและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หัวหน้างานจำนวนไม่น้อย ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทีมงาน ทั้งนี้เนื่องจากขาดองค์ประกอบสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาทีมงาน ซึ่งควรมีครบถ้วนอย่างน้อย 7 ประการอันได้แก่
ประการแรก ความปรารถนาพัฒนาทีมงาน
หากปราศจากซึ่งความปรารถนานี้แล้วให้ความสำคัญเพียงการสั่งงาน, ควบคุมงานและประเมินงานเท่านั้น ในที่สุดศักยภาพของทีมงานจะจำกัด ไม่ได้รับการพัฒนาและจะไม่สามารถรับมือหรือปรับตัวเข้ากับปัญหาใหม่ๆ ได้ เพราะขาดการสนับสนุนให้เรียนรู้จากหัวหน้างาน ดังนั้น ในฐานะหัวหน้างานจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยความปรารถนาที่จะพัฒนาคน ในทีมทุกคนให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถด้านต่างๆ เพิ่มพูนขึ้น
ประการที่สอง ทัศนคติที่ถูกต้องในการพัฒนา
หัวหน้าหน่วยงานควรมีทัศนคติที่ถูกต้องในการพัฒนาทีมงาน อาทิ
เห็นคุณค่าคน ตระหนักในศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวที่มีในแต่ละคน และพยายามเอาออกมาใช้ให้หมด
เห็นทุกคนคือเพื่อนร่วมงาน ตั้งใจส่งเสริมพัฒนาให้ทุกคนไปถึงความสำเร็จ ที่สำคัญต้องสร้างความรู้สึกให้ทีมงานสัมผัสได้ว่า ตนเองอยู่ในทีมที่แข็งแกร่งและมีโอกาสประสบความสำเร็จ พัฒนายั่งยืน พัฒนาต่อเนื่อง มองเห็นเป้าหมายของตนเองในอนาคต
ประการที่สาม เป้าหมายการนำชัดเจน
หัวหน้าต้องมีเป้าหมาย หรือจุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนาอย่างชัดเจนว่าต้องการพัฒนาใคร เรื่องอะไร เพื่อเป้าหมายต้องการให้เขาเป็นเช่นไร คำถามที่ควรอยู่ในใจเราคือ “ ทีมงานแต่ละคนกำลังเข้าไปใกล้ขีดจำกัดของศักยภาพพวกเขาหรือยัง?” เราจะให้ตั้งเป้าขยายศักยภาพทีมงานออกไปด้านใดอีกบ้าง? และในการวางแผนและการกำหนดเป้าหมายของทีมงานแต่ละครั้ง ควรให้ทุกคนมีเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพ หรือพัฒนาตนเองสู่ความเป็นมืออาชีพบางอย่างด้วย
ประการที่สี่ เข้าใจธรรมชาติคน
หัวหน้าหน่วยงานต้องรู้ถึงธรรมชาติเกี่ยวกับแรงจูงใจของคน อะไรเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ
และสามารถประยุกต์ใช้ความเข้าใจนี้ สร้างแรงจูงใจแก่ผู้ร่วมงานอย่างเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ หัวหน้าหน่วยงานยังต้องมีความสามารถในการดลจิตดลใจผู้ร่วมงาน หรือทีมงานให้เกิดแรงบันดาลใจ จนทุ่มเทความสามารถให้แก่งานที่รับผิดชอบอยู่ ต้องสามารถจูงใจพาทีมงานให้เกิดความจงรักภักดีความผูกพัน อุทิศตัว การร่วมแรงร่วมใจกับผู้นำและองค์กร เพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาด้วย
ประการที่ห้า ค้นหาและดึงศักยภาพ
คนแต่ละคนต่างก็มีส่วนดีอยู่ในชีวิตของตนเอง ในหนังสือข้อคิดเพื่อชีวิต ผมได้กล่าวไว้ว่า
“เราทุกคนนั้นมีคุณค่าในตัวเองหากเปรียบเทียบตัวเราก็เหมือนกระจาดๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยสิ่งดีหลากหลายอย่างผสมผสานเป็นตัวเรา” หัวหน้าหน่วยงานจึงควรเป็นผู้ที่สามารถดึงเอาศักยภาพ ที่ซ่อนอยู่ของผู้ร่วมงานออกมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะธรรมชาติคนทั่วไปย่อมปรารถนาจะนำเอาความรู้ความสามารถ ที่ตนเองมีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ หัวหน้าหน่วยงานที่ดีจึงต้องพยายามหาหนทาง ที่จะดึงเอาศักยภาพของผู้ร่วมงานออกมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ อย่างมากที่สุด รวมทั้งยังต้องให้ผลตอบแทนเขา ตามระดับความรู้ความสามารถที่เขาใช้ไปเพื่อองค์กรด้วย
ประการที่หก เป็นแบบอย่างชีวิตที่มีอิทธิพล
ผู้นำต้องส่งอิทธิพลต่อผู้อื่น ต้องสามารถใช้สิ่งต่างๆ ทุกองค์ประกอบที่ตนเองมีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพ ความรู้ ความสามารถ อิทธิพลชีวิต แบบอย่างของพฤติกรรม ตลอดจนอำนาจที่ตนเองมีอยู่ ส่งอิทธิพลต่อทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมของผู้ร่วมงานหรือทีมงาน
เพื่อให้คนเหล่านั้นยินยอมร่วมมือร่วมใจ ทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งเอา ไว้
สิ่งสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อทีมงานได้มากที่สุดก็คือ “แบบอย่างชีวิต” คนจะได้รับอิทธิพลเมื่อเห็นแบบอย่าง หากอิทธิพลชีวิตที่มาจากความจริงจัง จริงใจ และความมั่นคงภายในของเราแรงพอ
ย่อมทำให้คนที่อยู่ใกล้เราเปลี่ยนแปลงตามได้ไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เราอยากให้สมาชิกของทีมงานหรือทีมงานของเราเป็น เราต้องเริ่มต้นที่การเป็นแบบอย่างของเราเสียก่อนเป็นอันดับแรก
แล้วคำท้าทายและคำแนะนำที่มีต่อทีมงานของเราจึงจะมีน้ำหนักเพียงพอ
ประการที่เจ็ด นำอย่างมี “ศิลปะ”
หัวหน้าหน่วยงานต้องมีความสามารถในการปรับรูปแบบการนำ หรือการทำงานให้เหมาะสมกับบุคคล
และสถานการณ์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้บุคคลเหล่านั้นทำงานตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
โดยตระหนักว่าไม่มีรูปแบบใดที่ดีที่สุดกับทุกสถานการณ์ เพราะรูปแบบหนึ่งอาจเหมาะสมกับสถานการณ์แบบหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ต้องมีสติปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์
และรู้จักประยุกต์ใช้แบบแผนการนำอย่างเหมาะสมสอดคล้องเวลา บุคคลและโอกาส หากเราต้องการให้สิ่งที่เราทำอยู่นั้นยั่งยืนสืบต่อไป “ผู้นำ” จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่สำคัญมากกว่าการสั่งคน การใช้คน การควบคุมคน แต่ต้อง “สร้างคน” รุ่นต่อๆ ไปให้สามารถก้าวขึ้นมาสานต่อบทบาทหน้าที่แทนเราหรือเหนือกว่าเราได้ อันส่งผลให้กิจการที่ทำนั้นเติบโตได้ต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ: ขอบคุณ http://www.kriengsak.com
ที่มา : http://www.raidai.com
ป้ายกำกับ:
บริหาร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น