26 เม.ย. 2554

ลักษณะของสิวประเภทต่างๆ


1. Acne Dysmorphia  อาการสิวชนิดนี้เป็นชนิดเดียวที่ไม่มียาทารักษาให้หายได้เพราะเป็นความผิดปกติทางจิต ยังมีสิวมีประเภทหนึ่งที่ไม่มียาใด ๆ ที่จะรักษาให้หายได้ นั่นคือสิวที่เรียกว่า Dysmorphia ซึ่งเป็นภาวะของความผิดปกติส่วนบุคคล คล้ายกับลักษณะของภาวะความผิดปกติในพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ที่เป็นสิวลักษณะนี้จะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกไม่พอใจในสภาพร่างกายของตัวเอง อาการของโรคนี้ก็เช่น การไม่พอใจในน้ำหนักของตัวเอง สิว หรือสภาพผิวของตัวเอง เป็นต้น
 
ปัญหาก็คือ สิวลักษณะนี้อันที่จริงแล้วไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับสิวแม้แต่น้อย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคนี้ สิวถือเป็นประเด็นหนึ่งของปัญหานี้ เมื่อเกิดสิวขึ้นบนใบหน้า ผู้นั้นก็จะหมกมุ่นอยู่แต่กับผิวของตัวเอง แม้จะเป็นสิวเพียงน้อยนิดก็ตาม อาจจะพยายามกดหรือบีบผิวบริเวณใดบริเวณหนึ่งจนเลือดออกหรือติดเชื้อ บ่อยครั้งที่เจ้าตัวเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลจากความไม่พอใจในสภาพผิวของตนเอง

ที่น่าเศร้าคือ หลายครั้งพบว่าคนเหล่านี้อาจจะมีสิวแค่เพียงเล็กน้อยหรือขึ้นมาแบบที่คนอื่นแทบจะมองไม่เห็น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่มียารักษาสิวใด ๆ ที่จะช่วยรักษาอาการหมกมุ่นกับผิวของคนเหล่านี้ได้ เป็นความผิดปกติของผู้ที่เป็นสิวชนิดนี้ซึ่งจะเห็นได้จากการส่องกระจกบ่อย ๆ อาจจะเป็นร้อยครั้งต่อวันก็เป็นได้ แต่ละครั้งที่ดูกระจกก็จะเกิดความไม่พอใจและหลอกตัวเอง บางครั้งจะรู้สึกว่าสิวนั้นมีมากหรือใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่จริง

การรักษาความผิดปกตินี้ไม่ได้อยู่ที่การใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิว แต่ต้องรักษาจากภายใน จากพฤติกรรม อันเป็นการรักษาที่น่าอัศจรรย์สำหรับการรักษาสิวชนิด dysmorphia พบว่าหลาย ๆ ครั้งก็ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีนี้เพื่อลดอาการของโรคดังกล่าว ในรายที่เป็นมากอาจต้องให้ยาเพื่อยับยั้ง serotonin reuptake บางรายพบว่าการรักษาในลักษณะของการสะกดจิตนั้นให้ผลดี

ประเด็นสำคัญที่ควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิว dysmorphia นั่นก็คือสิวนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความรุนแรงของสิว แต่เกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านจิตใจ ซึ่งต้องการการรักษาต่างจากการรักษาสิว และยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาอาการ dysmorphia เนื่องจากอาจสร้างปัญหาต่าง ๆ ได้มาก เช่นทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลซึมเศร้า รวมถึงการฆ่าตัวตาย

ไม่มีใครที่ยินดีเมื่อเป็นสิว แต่สิวที่เกิดจาก dysmorphia นั้นถือเป็นความผิดปกติ ควรหาวิธีการรักษาด้านจิตใจเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะพบว่าสิวที่เป็นนั้นจะไม่เป็นปัญหากับชีวิตของคุณ

2.Acne excoriee นั้นเป็นลักษณะของผู้ที่ชอบกดหรือบีบสิว มักพบได้มากในวัยรุ่นหญิง โดยจะมีพฤติกรรมส่วนตัวที่กดหรือบีบสิวทันทีโดยอัตโนมัติเมื่อเห็นหรือสัมผัสพบว่ามีสิวเกิดขึ้น สิวประเภทนี้เป็นอาการที่สิวเกิดการติดเชื้อจากการกดสิวอักเสบเป็นประจำ พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลให้สิวอักเสบลุกลามแพร่กระจายมากขึ้น อาการสิวแย่ลงกว่าเดิม ลักษณะดังกล่าวจะเป็นผลให้เกิดรอยแผลเป็น หรือสะเก็ดแผลบนผิวได้ สิ่งสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกันก็คือ ความเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาทางด้านอารมณ์ ที่มีผลต่ออาการของ acne excoriee


Acne excoriee นั้นปกติทั่วไปพบได้ในผู้หญิง และส่วนใหญ่มักเริ่มตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่น วัยที่เริ่มเป็นสิวปกติจะเริ่มที่วัยรุ่นและไปจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย หรือช่วงแรกของวัยผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นสิวได้ไปจนถึงอายุ 30 หรือมากกว่านั้น อัตราส่วนของคนปกติ 5% อาจยังคงเป็นสิวได้ที่อายุเลย 45 ปีไปแล้ว แต่ว่าพฤติกรรมการบีบหรือกดสิวอาจยังคงอยู่ต่อไปแม้ว่าอาการสิวจะดีขึ้นแล้วก็ตามแม้ว่าสิว

ลักษณะนี้แพทย์มีความเห็นว่าเป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่งของผู้ป่วย แต่การรักษาทางจิตวิทยาก็ยังไม่เห็นความสำเร็จในการรักษาแต่อย่างใด

วิธีแก้คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัว

 3. สิวที่เกิดจากน้ำมันใส่ผม เมื่อเปลี่ยนน้ำมันใส่ผม ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่วัยรุ่นและวัยรุ่นตอนปลายใช้เป็นวิธีในการเปลี่ยนสไตล์ของตนเอง บางครั้งทรงผมใหม่ ๆ ก็ต้องใช้น้ำมันหรือผลิตภัณฑ์แต่งผมที่มีความเหนียว, หนา, มัน และโดยปกติแล้วการใช้ผลิตภัณฑ์แต่งผมก็จะใช้ในกรณีที่ 1) ผมหยักศกให้เป็นผมตรง หรือ 2) ผมที่ต้องจัดทรงเซ็ททรง น้ำมันใส่ผมบางชนิดมีขายตามร้านหรือสรรพสินค้าทั่วไป บ้างก็เป็นผลิตภัณฑ์ทำเอง


ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้น้ำมันแต่งผมนั่นคือ อาจทำให้เกิดสิว สิวชนิดนี้มักเกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ, หน้าผาก และขมับ ซึ่งเป็นผิวบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมันแต่งผม เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดสิว เป็นสิวลักษณะตุ่มหนองเล็ก ๆ และสิวที่เป็นตุ่มน้ำใส ๆ
เป็นกันได้มาก แต่อาจไม่เป็นทุกคน สิวจากน้ำมันแต่งผมนั้นอยู่ในหมวดของสิวอุดตันที่เกิดได้จากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ส่วนผสมของน้ำมันที่มีปริมาณมากในผลิตภัณฑ์จัดแต่งผมสามารถอุดตันรูขุมขน แล้วทำให้ก่อตัวเป็นสิวอุดตัน อีกทั้งยังมีสารเคมีบางอย่างในผลิตภัณฑ์แต่งผมที่อาจทำให้ระคายเคืองผิว ทำให้เกิดการอักเสบ
วิธีการรักษา
การรักษาสิวที่เกิดจากผลิตภัณฑ์แต่งผม มีทางเลือกดังต่อไปนี้
- หากใช้ผลิตภัณฑ์ใส่ผมเพื่อลดการเกิดรังแค ลองทาผลิตภัณฑ์นั้นห่างจากโคนผมและหนังศีรษะประมาณ 1 นิ้ว
- หากใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อจัดแต่งทรงผม ลองทาผลิตภัณฑ์นั่นแค่เพียงปลาย ๆ เส้นผม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลิตภัณฑ์แต่งผมสัมผัสหนังศีรษะ
- หากลองวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่หาย ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับจัดแต่งทรงผม
เมื่อเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งผม หรือผลิตภัณฑ์นั้นไม่สัมผัสกับผิวรอบ ๆ ไรผม สิวที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หายไป หากยังไม่หายควรใช้วิธีการรักษาเหมือนกับการรักษาสิวประเภทอื่น ๆ โดยการล้างทำความสะอาดผิว และทายาเช่น Benzoyl peroxide หากสิวยังไม่หายไปภายใน 6-8 สัปดาห์หลังการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

4. สิวที่เกิดจาก Rosacea อ่านว่า โร-เซย์-ชา เป็นอาการที่เกิดได้บ่อย ๆ แต่มีผู้รู้จักและเข้าใจน้อย เป็นอาการผิดปกติของผิวหน้าและมีชาวอเมริกันผู้ที่เป็น rosacea อยู่ประมาณ 14 ล้านคน
เป็นอาการที่เรื้อรังแต่สามารถรักษาได้ พบได้บริเวณกลางใบหน้า และบ่อยครั้งที่มีลักษณะคล้ายสิวเห่อ แม้ว่า rosacea อาจเป็นได้ในทุกวัย แต่การเก็บข้อมูลบ่งชี้ว่ามักจะเริ่มเป็นหลังอายุ 30 ปีไปแล้ว โดยจะมีผิวหน้าแดงที่แก้ม จมูก คาง หน้าผาก และอาการจะเป็นได้มากขึ้นและยาวนานยิ่งขึ้นจนสามารถมองเห็นเส้นเลือดฝอยได้ จากนั้นจะเหลือร่องรอยของสิวที่รักษายาก ในรายที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้ชาย จมูกจะพองบวมจากการที่เนื้อเยื่อสร้างมากเกินไป หลายคนมีอาการที่ดวงตาร่วมด้วย โดยจะรู้สึกระคายเคืองตา ตาแฉะ เส้นเลือดฝอยในตาแตก
แม้ว่า rosacea จะเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกประเภท ผู้ที่มีผิวขาวจะมีแนวโน้มในการเกิดผิวหน้าแดงได้ง่ายกว่า อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่าผู้ชาย ยังมีหลักฐานว่า rosacea นั้นมีแนวโน้มว่าเกิดขึ้นได้กับสมาชิกในครอบครัว
จากการเก็บข้อมูลสำรวจผลจาก National Rosacea Society พบว่า 70% ของผู้ที่เป็น Rosacea นั้นบอกว่าพวกเค้ารู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง และไม่ค่อยภูมิใจในตัวเองเท่าใดนัก และอีก 41% แจ้งว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเค้าหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน และไม่อยากเข้าสังคม ในกลุ่มของผู้ที่มีอาการรุนแรงพบว่า 70% แจ้งว่าเป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อการปฏิสัมพันธ์ของเขากับผู้อื่น และอีกเกือบ 30% แจ้งว่าเป็นเหตุให้ขาดงาน ข่าวดีก็คือผู้ที่มีอาการของ rosacea มากกว่า 70% นั้นรายงานว่าอาการดีขึ้นเมื่อรักษาด้วยการทายา
ในขณะที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และไม่มีทางรักษา แต่อาการเหล่านั้นก็สามารถควบคุมได้ด้วยการทายาและการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็น rosacea ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณเพื่อวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นแล้วสร้างปัญหาให้กับการดำเนินชีวิต




Rosacea เกิดจากอะไร

มี ทฤษฎีอยู่มากมายที่กล่าวถึงสาเหตุของการเกิด rosacea ที่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ คาดหวังกันว่าการวิจัยต่อ ๆ ไปจะมีวิธีการช่วยรักษาและป้องกันอาการของ rosacea
หลายคนเชื่อว่า rosacea อาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด เนื่องจากมีอาการของผิวหน้าแดง และมองเห็นเส้นเลือดฝอย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็ยังพิจารณาว่าอาการผิวแดงอาจเกี่ยวข้องกับระบบ ประสาท เพราะ rosacea นั้นจะมีอาการกำเริบได้เมื่อผู้ป่วยมีความเครียดทางด้านอารมณ์
มีทฤษฎี ที่กล่าวถึงอาการบวมว่าเกิดจากการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นในช่วงที่ผิวหน้า แดง ซึ่งจะทำให้เกิดการเพิ่มน้ำเลี้ยงในเนื้อเยื่อที่สะสมได้รวดเร็วเกินกว่า ที่ระบบน้ำเหลืองจะสามารถขับออกไปได้ อาการผิวบวมจึงอาจทำให้ผิวหนาขึ้นจากการสะสมของเนื้อเยื่อที่มากขึ้นด้วย
นอก จากเส้นเลือดแล้วก็ยังมีปัจจัยอื่นเช่น ตัวไรในต่อมขน ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก็เป็นตัวหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดอาการได้ ตามปกติตัวไรนี้ได้อาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ที่มีปริมาณของเซลล์ที่ตาย แล้ว แต่จะพบได้มากกว่าในผู้ที่เป็น rosacea
เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นตัวหนึ่งที่มีผลต่อแผลอักเสบในลำไส้เล็ก ซึ่งมีผลต่อ rosacea ด้วยโดยอาจเพิ่มระดับฮอร์โมน gastrin (เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย) ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผิวแดง 


 5.สิวที่เกิดจากโรคขนคุด (Keratosis pilaris) โรคขนคุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป มีลักษณะรูขุมขนเป็นตุ่มแข็งนูนขึ้นมาบนผิวให้สัมผัสขรุขระเมื่อลูบดู และแลดูเหมือนหนังไก่ ส่วนใหญ่พบได้บริเวณแผ่นหลัง และต้นแขนด้านนอก (บริเวณท่อนแขนก็พบได้บ้าง) และยังพบได้บริเวณต้นขา สีข้าง สะโพก น่อง น้อยครั้งที่จะพบบริเวณผิวหน้า และอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิว
 
การจัดแบ่งประเภท
คนที่เป็นส่วนใหญ่จะเป็นวัยผู้ใหญ่ 40-50% และประมาณ 50-80% เป็นวัยหนุ่มสาว และจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และความรุนแรงก็จะมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงมาก โรคขนคุดนั้นมีอยู่หลายประเภท ตั้งแต่ Keratosis pilaris rubra คือขนคุดที่มีอาการอักเสบ แดง, alba คือขนคุดที่เป็นตุ่มแข็งขึ้นมาบนผิวหนังแต่ไม่ระคายเคือง, rubra faceii คือเป็นผื่นแดงบริเวณแก้ม - - ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคขนคุดมักไม่รู้ว่าตนเองเป็นอยู่ (หากว่ามีอาการเล็กน้อย) คนมักจะสับสนเข้าใจว่าเป็นสิวเนื่องจากขนคุดนั้นมีลักษณะคล้ายกับเวลาที่ขนลุก เมื่อสัมผัสจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ บนผิวหนัง

วิธีการรักษา
ขณะนี้ยังไม่พบวิธีการรักษาอาการขนคุด แต่ก็มีวิธีที่ได้ผลระดับหนึ่งที่จะทำให้อาการดูน้อยลง ผิวบริเวณที่เป็นขนคุดจะดูดีขึ้นและอาจหายไปได้ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านพ้นไป - - การขัดและผลัดเซลล์ผิว, ครีมบำรุงผิวเข้มข้น, lac-hydrin, Retin-A และโลชั่นที่มีส่วนผสมของ AHA หรือ Urea อาจช่วยบำรุงผิวบริเวณที่มีปัญหาให้ดีขึ้น เนียนนุ่มขึ้นได้บ้างชั่วคราว - - การใช้ผลิตภัณฑ์ milk bath ก็ช่วยได้บ้างเนื่องจากมีส่วนผสมของกรด lactic - - การรับประทานวิตามินเอในปริมาณเล็กน้อยก็ช่วยได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผลต่อตับ อาจทำให้เกิดพิษได้ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจรับประทานวิตามินเอ - - วิธีการที่ปลอดภัยกว่าคือการทาน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในบริเวณที่เป็นขนคุด โดยทาตอนอาบน้ำเสร็จใหม่ขณะที่ตัวยังเปียกน้ำ แล้วทิ้งไว้สักพักจึงค่อยเช็ดตัว จะช่วยกำจัดและป้องกันการเกิดขนคุดได้อย่างถาวร
การเกาและแกะขนคุดนั้นจะทำให้เป็นแผลแดง และบางครั้งก็ทำให้เลือดออก การแกะเกาบ่อย ๆ จะทำให้กลายเป็นแผลเป็นรอยดำ การสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ไม่ให้รัดบริเวณที่เป็นขนคุดก็จะช่วยลดการเกิดขนคุดใหม่ ๆ ได้ เพราะหากสวมใส่เสื้อผ้าคับ ๆ ก็จะเกิดการเสียดสี เปรียบเสมือนการเกา ก็จะทำให้ยังเป็นขนคุดเพิ่มได้อีก


การอาบแดด
คนที่เป็นขนคุดบางคนกล่าวว่าการอาบแดดนั้นช่วยบรรเทาอาการของขนคุดได้ แม้ว่าการอาบแดดจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นและอาจเป็นปัญหาในระยะยาวได้มากกว่าการเป็นขนคุด เนื่องจากความร้อนจากแสงแดดนั้นจะทำให้รูขุมขนบนผิวขยายตัว แต่สุดท้ายแล้วก็จะทำให้ผิวแห้งและแย่กว่าเดิม วิธีที่ดีที่สุดคือการขัดผิวเพื่อให้เซลล์ผิวเก่า ๆ หลุดออก แล้วทาครีมบำรุงให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อผิวไม่แห้งแข็ง และผิวไม่หนา ขนก็จะงอกออกมาให้ง่าย จึงลดการเกิดขนคุดลงไปได้มาก


6. ผิวหนังอักเสบ Perioral Dermatitis คือผื่นคันบนผิวหน้าที่อักเสบเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนองอักเสบ บางครั้งเป็นตุ่มใสพุพอง หรือน้ำหนอง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณรอบปาก จมูกและคาง และอาจเกิดอาการผิวแดงที่คางและเหนือริมฝีปาก โดยเฉพาะถ้าได้ครีมสเตียรอยด์ - - อาจมีอาการคันและเจ็บแสบร่วมด้วย
ใครที่จะเป็นผิวหนังอักเสบ Perioral Dermatitis โดยมากมักเป็นในผู้หญิง ในผู้ชายนั้นก็มีบ้างนาน ๆ ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นที่เปลือกตาพบได้ที่ไหนบ้าง ปกติจะพบได้บริเวณปาก แต่ไม่เกินเข้าไปในริมฝีปาก รอบจมูก และบ้างครั้งก็เป็นที่เปลือกตา จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ โดยทั่วไปจะพบได้ในช่วงระหว่างวัยรุ่นตอนกลาง และหญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ส่วนใหญ่เป็นในช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อยแต่ก็มีรายงานว่าเป็นได้ในวัยเด็ก อาการจะอยู่เป็นเดือน ๆ และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก



 

สาเหตุของการเกิดผิวหนังอักเสบ Perioral Dermatitis ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ครีมสเตียรอยด์ก็สามารถทำให้เกิดอาการได้มากเท่ากับทำให้อาการแย่ลงได้ มีรายงานเกี่ยวกับการใช้ยาสีฟันแล้วทำให้เกิดอาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรต่อต้านหินปูน และฟลูออไรด์ ไม่พบว่ามีตัวแพร่เชื้อในอาการนี้ ฮอร์โมนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และมอยส์เจอร์ไรเซอร์มีส่วนทำให้อาการผื่นแดงเป็นมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าโรคผิวหนังชนิดนี้อาจมีความเกี่ยวเนื่องกับ rosaceaอาการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับผิวหนังอักเสบ perioral dermatitis
- Sebderm โดยปกติจะมีลักษณะแดงและเป็นสะเก็ดบริเวณผิวเหนือริมฝีปาก-ใต้จมูก และข้าง ๆ จมูก
- ผื่นแพ้พันธุกรรม ปกติจะมีอาการคันมากกว่าการเป็นสิว และอาจเป็นได้ทั้งหน้าและมือ
- Rosacea โดยปกติจะพบได้ที่แก้ม ทำให้ผิวแก้มแดง และเกิดเส้นเลือดฝอยแตก
- ผื่นแพ้สัมผัส เกิดผิวอักเสบและผื่นคัน ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเรื้อรังในบริเวณที่รักษาไม่หายขาด
- Steroid acne พบได้บนผิวหน้า ส่วนใหญ่จะทำให้เกิด rosacea การใช้ยาสเตียรอยด์นาน ๆ นั้นอาจทำให้เกิดสิวได้ จะจัดการกับผิวหนังอักเสบ perioral dermatitis ได้อย่างไร
1) ดูแลตัวเอง
- โดยการหลีกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นเสียแต่ยาสเตียรอยด์ภายนอกชนิดอ่อนที่สุดกับผิวหน้า แล้วค่อยลดปริมาณลง หากใช้เป็นเวลานานควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนังจะดีที่สุด
- ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์แต่เพียงน้อย ๆ เครื่องสำอางต่าง ๆ ควรเป็นชนิดปราศจากน้ำมัน และมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ
- ใช้พวกเมคอัพสำหรับปกปิดได้ แต่จะลดการทำงานของตัวยาที่ใช้ในการรักษาลงกว่าปกติ
2) การใช้ยา
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลือกในการรักษา
ยาทาภายนอก
- ได้ผลพอสมควร แต่การรับประทานยาปฏิชีวนะนั้นก็จำเป็นเพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น
- การทาครีมหรือโลชั่นเช่น ครีม metronidazole ควรทาวันละสองครั้ง จะเห็นผลหลังจากการใช้ประมาณ 2-3 เดือน
ยารับประทาน
หากว่าได้รับการรักษาที่เหมาะสมเพียงพอแล้ว โอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำนั้นค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยเป็นผิวหนังอักเสบ perioral dermatitis จะมีอาการดีขึ้นหลังจาก 4-6 สัปดาห์ แต่ในบางรายก็ต้องใช้ระยะเวลา การรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาปฏิชีวนะเช่น
- Minocycline 50-100 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง จนกว่าจะหาย โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในบางรายก็อาจต้องรับประทานต่ออีกสักพักในปริมาณที่น้อยลง และนานขึ้น
- Tetracycline 500 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง 6-12 สัปดาห์
- Doxycycline 100 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง 6-12 สัปดาห์


7.สิวหรือผดผื่น คุณ ๆ ทั้งหลายเคยอยู่ท่ามกลางแสงแดดตลอดทั้งวันกันบ้างมั้ย เช่นการไปเที่ยวสวนสนุกเวลากลางวันโดยที่มีแสงแดดส่องกระทบพื่นสะท้อนผิวหน้าทั้งวัน เหงื่อชุ่มโชกไปทั้งหน้าแล้วไหนจะยังน้ำมันเยิ้มบนผิวหน้า - - ในวันเช่นนี้หลาย ๆ คนอาจสังเกตเห็นว่ามีสิวเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นเต็มบนหน้าผาก และที่อื่น ๆ อีกเช่นคาง นี่คือสิวหรืออะไรกันแน่?? ก็ในเมื่อสิวเม็ดเล็ก ๆ ที่พวกเขาเป็นกันอยู่นี่มันมีลักษณะคล้ายกันมากกับผดผื่น หลายคนคิดว่าตัวเองเกิดสิวอักเสบขึ้น อันที่จริงแล้วพวกเขาก็แค่เป็นผดผื่นที่เกิดขึ้นได้เมื่อเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ และบางทีแม้กระทั่งมลภาวะทางสภาพแวดล้อมหรือฝุ่นควัน ที่สามารถเกาะที่ผิวหน้าคุณได้เมื่อมีความร้อนและความชื้นสูง และเมื่อผิวมีน้ำมันมากเกิน
วิธีที่ดีที่สุดจะทำได้คือการล้างหน้าให้สะอาดทันทีที่กลับถึงบ้าน และทาครีมรักษาสิว หรือ Benzoyl Peroxide หรือ Salicylic Acid เพียงบาง ๆ - - บางคนชอบ Salicylic แต่ว่าก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นเสมือนตัวกระชับผิวและกำจัดน้ำมันส่วนเกิน โดยไม่ทำให้ผิวแห้งเกินไป เพราะจะทาแค่เพียงครั้งเดียวหลังล้างหน้า (หลังสถานการณ์ลักษณะนี้) และทาเพียงบาง ๆ เท่านั้น และไม่ควรทำมากเกินกว่านี้ คุณคงไม่ต้องการที่จะทำให้มันแย่ลงกว่าเดิมโดยการทำให้มันเป็นสิวขึ้นมาซะก่อนเนื่องจากผิวแห้งมากและระคายเคือง

 

 
สาเหตุของผดผื่นชนิดนี้
เกิดจากการที่ผิวเราปล่อยเหงื่อออกมามากเกินไปซึ่งจะเกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อเจออากาศร้อนหรือชื้น ในบ้านเราจะเป็นกันมากเวลาเดินกลางแจ้งนานๆหรือไปเที่ยวชายทะเล เที่ยวป่า เป็นต้น เมื่อเหงื่อถูกผลิตออกมามากไปจะไปทำลายเซลล์ที่ชั้นผิวและเมื่อเหงื่อที่จะออกต่อมาไม่สามารถออกไปได้ทำให้เป็นเม็ดผดขึ้นมา
8.รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เกิดจากการที่รูขุมขนติดเชื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนผิวหน้าหรือหนังศีรษะ โดยปกติแล้วจะมีอาการคัน บางครั้งอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย อาการรูขุมขนอักเสบนั้นมีลักษณะคล้ายสิว อาการที่ปรากฏขึ้นมาอย่างฉับพลัน หรือขึ้นมานิดหน่อยในระยะเวลาสั้น ๆ มักเกี่ยวเนื่องกับแบคทีเรีย Staph ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา Cephalexin, dicloxacillin หรือยาอื่น ๆ ที่เป็นยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะแบบทาภายนอกที่เป็นครีมหรือโลชั่นก็สามารถใช้ได้ ขี้ผึ้ง Bactroban อาจใช้ทาบริเวณด้านหน้าของรูจมูกเป็นเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อาจดูไม่เข้าท่าแต่ความจริงก็คือ ภายในโพรงจมูกด้านหน้านั้นเป็นที่ที่แบคทีเรียสามารถอาศัยอยู่ได้แม้ว่าจะรับประทานยาปฏิชีวนะ เชื้อที่ยังอยู่บริเวณนั้นจะแพร่กระจายกลับไปที่ผิวหนังเพื่อเริ่มการแพร่เชื้ออีก

   

  การอักเสบเรื้อรังของรูขุมขนนั้นไม่สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งที่อาการรูขุมขนอักเสบนี้เกิดขึ้นที่บริเวณขาของผู้หญิง แต่จะเป็นบริเวณที่มีการโกน, แว๊กซ์, การถอนขน หรือการเสียดสี โดยจะต้องหยุดพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อให้ขนที่งอกใหม่ได้เติบโตขึ้นตามปกติ หากจำเป็นต้องโกนควรโกนไปตามแนวขน ซึ่งลักษณะนี้อาจทำให้ผิวไม่เรียบเนื่องจากโกนได้ไม่เกลี้ยง แต่รูขุมขนจะดูดีขึ้นกว่าการโกนแบบเดิม ยาปฏิชีวนะเช่น tetracycline หรือ minocycline สามารถใช้ได้ในช่วงเวลา 4-6 สัปดาห์ นอกจากนั้นหากผิวแพ้ง่าย, แห้ง ควรใช้โลชั่นฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่แห้งและแพ้ โลชั่นดังกล่าวเช่น Xerac-Ac (aluminum chlorhydrate solution), Cleocin-T solution หรือ Benzaclin gel ในบางกรณีการติดเชื้อจากแบคทีเรียพบได้ในถังน้ำร้อนที่สกปรก หรือแปรงขัดผิวที่สกปรก ในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย, ต้องหลีกเลี่ยงการขัดถูหรือเสียดสี หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่ทำจาก Lycra หรือผ้าที่มีเนื้อแข็งหยาบ เช่นยีนส์ ไม่ให้สัมผัสบริเวณที่เป็นรูขุมขนอักเสบ ทามอยส์เจอไรเซอร์ปราศจากน้ำมันเช่น ครีม Lac-hydrin (ammonium lactate 12%) ร่วมกับการทาครีม Cortisone ในบริเวณที่เป็นหากพบว่ามีอาการของผื่นแดงเป็นวงร่วมด้วย ในกรณีที่มีอาการเดิม ๆ กลับมาเป็นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาอาจใช้การรักษาด้วยวิธีการเลเซอร์ขนออกไป อาจจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างแพงและต้องทำหลาย ๆ ครั้ง แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากวิธีอื่น ๆ นั้นไม่ได้ผล



9.ผื่นแดง Sebderm หรือที่เรียกกันว่า Seborrhea นั้นเป็นลักษณะของผิวอักเสบแบบตื้น ๆ เป็นผื่นแดง เป็นแผ่น ๆ ปกติจะขึ้นที่หนังศีรษะ (เช่นรังแค), คิ้ว, ระหว่างร่องจมูกกับริมฝีปาก, หน้าผาก, แก้ม และรอบ ๆ จมูก, หลังหู, ตีนผม ยังเป็นได้บริเวณร่องอก, สะดือ, ขาหนีบ เป็นบริเวณที่มีรูขุมขนและต่อมไขมัน (ซึ่งมีหน้าที่ผลิตซีบั่ม) เป็นจำนวนมากกว่าที่อื่น มักมีความเข้าใจกันว่า Sebderm เกิดจากอาการที่ผิวชั้นหนังกำพร้ามีความไวมากกว่าปกติ, แบคทีเรีย หรือยีสต์ ผู้ที่เป็น Sebderm จะมีปริมาณยีสต์ชื่อ Pityrosporum อยู่บนผิวหนังเป็นจำนวนมาก ปกติแล้วยีสต์ตัวนี้จะอยู่บนผิวของเราตามธรรมชาติ แต่การเกิด sebderm เป็นปฏิกิริยาตอบสนองกับยีสต์เหล่านั้น ปัจจัยส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการก็คือ ความเครียด, ภูมิคุ้มกันผิวที่ลดลง และอากาศเย็น ปกติแล้วพบว่าผู้ที่เป็น Sebderm จะอยู่ในช่วงอายุ 20-50 ปี และเป็นในผู้ชายมากกว่า อัตราส่วน 3-5% ในวัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่

 
 

วิธีการรักษา : สเตียรอยด์และยาต้านเชื้อรา
มีการรักษาอยู่ 2 แบบคือ ใช้ยาทาเชื้อราในบริเวณที่เกิดอาการ ยาทาเชื้อราจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ด้วย แต่สเตียรอยด์นั้นควรทาในบริเวณที่เกิดอาการอยู่เท่านั้น Sebderm ที่เกิดขึ้นบนผิวหน้านั้นให้ผลตอบสนองดีกับยา corticosteroids ที่ระดับความเข้มข้นต่ำเช่น ครีมหรือโลชั่น hydrocortisone1% เช่นเดียวกัน, corticosteroid นั้นไม่ควรใช้ทาบนผิวหน้าติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิวเหี่ยวหรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ในบริเวณที่มีขนปกคลุมควรใช้ในรูปแบบโลชั่นเพื่อให้ทาได้ง่ายกว่าแบบครีม

แชมพูต้านเชื้อรา
ประเด็นสำคัญของการใช้แชมพูขจัดรังแคนั้น เป็นการใช้เพื่อรักษา sebderm ที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะ ซึ่งจะมีส่วนประกอบของ Selenium (เช่น เซลซั่นขวดสีฟ้า) หรือ Zinc (เช่น เฮดแอนด์โชลเดอร์) ซึ่งทั้งสองตัวนั้นจะก่อให้เกิดพิษต่อยีสต์ Pityrosporum ที่แนะนำให้ผู้เป็น sebderm ทั้งบนหนังศีรษะและใบหน้าใช้ เพื่อกำจัดยีสต์ดังกล่าวทั้งสองบริเวณ และยังเหมาะสำหรับบริเวณที่มีหนวดเคราด้วย ทั้งแชมพู Ketoconazole (ไนโซรอล) 2% และแชมพู Selenium sulfide 2.5% นั้นให้ผลดีในการรักษาผู้ที่เป็นรังแคปานกลางถึงมาก แชมพู ketoconazole 2% นั้นให้ผลดีมากทั้งในการกำจัด sebderm บนหนังศีรษะ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเมื่อใช้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง Ketoconazole มีชนิดที่ความเข้มข้น 1% วางขายทั่วไป แต่หากเป็นความเข้มข้น 2% ยังคงต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ในการซื้อ

การรักษาในกรณีที่มีอาการรุนแรง
เมื่อมีอาการ sebderm ขั้นรุนแรง ให้ใช้สเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นสูงในการรักษา จนกว่าอาการจะอยู่ในความควบคุม ครีม ketoconazole ก็เป็นยาที่ให้การรักษา sebderm ได้ดีในบริเวณอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากหนังศีรษะ ครีมต้านเชื้อราตัวอื่น ๆ เช่น micronazole สามารถใช้ในการรักษา sebderm บริเวณผิวหน้าได้ การทดลองหนึ่งที่ได้ผลคือการใช้เจล metronidazole 1% ในผู้ที่เป็น sebderm จากการใช้ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ผู้ป่วย 14 คนที่ได้รับ metronidazole มีอาการดีขึ้น แม้การรักษาด้วย metronidazole นั้นจะยังไม่ได้รับการรับรอง แต่ก็ใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเมื่อใช้ยารักษาตัวอื่น ๆ ไม่ได้ผล  ได้มีการสุ่มควบคุมผลการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ พบว่าการรักษาด้วยสมุนไพรในการรักษา sebderm และรังแค นั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการใช้ 10 สัปดาห์ อาการ sebderm ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาให้หายได้ด้วยยาทาดังกล่าว ต่อเมื่อการทายาดังกล่าวนั้นไม่ให้ผลดังที่ต้องการจึงพิจารณาให้รับประทานยาต้านเชื้อแบคทีเรีย การรับประทานยา Terbinafine พบว่าให้ผลดีในการรักษา sebderm ขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง ในคลินิกพบว่าอาการดีขึ้นจากการรักษาด้วยยา Terbinafine ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และยังให้ผลต่อไปอีก 8 สัปดาห์หลังการรักษา
ผู้ป่วยนั้นจะได้รับการวินิจฉัยให้ใช้โลชั่น hydrocortisone 1% และครีม Ketoconazole 2% ทั้งสองอย่างใช้ทาวันละสองครั้งในบริเวณที่เป็น ผู้ป่วยจะได้รับคำอธิบายจากแพทย์ว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาการของ sebderm อาจกลับมาได้อีกเมื่อผู้ป่วยมีความเครียด

Reference
-jfponline.com
เรียบเรียงและแปลโดย Acnethai.com

ไม่มีความคิดเห็น: