13 เม.ย. 2554

จิตวิทยากับชีวิตประจำวันในสังคม1



คนเราเกิดมามีชีวิตอยู่กับคน

    เรียนรู้  และทำงานร่วมกับคน

       ใช้สิ่งต่าง ๆ ในสังคม  ร่วมกับคน

                   มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้    ก็เพราะคน     ... ”

                จากคำกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าทุกชีวิตจะต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น  หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าทุกคนต้องอาศัยซึ่งกันและกัน  การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม  คนเราจะต้องดิ้นรนและมีพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่มีสิ้นสุดการกระทำหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมนี้เอง  เป็นสิ่งที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาทางจิตวิทยา  และศึกษาบุคคลแต่ละคน  การกระทำของแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน  ทั้งนี้เพราะคนมีความคิด  และแรงจูงใจที่แตกต่างกัน

                ดังนั้นจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน จึงหมายถึง  การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์  เพื่ออธิบาย  คาดการณ์  หรือควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์  เพื่อจะได้เข้าใจและสามารถนำชีวิตของเราให้ดำเนินไปได้อย่างเฉลียวฉลาด  และยังมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับเราด้วย  ถ้าเรามีจิตวิทยาดี  เราย่อมจะเป็นที่พึ่งพาแก่ผู้อื่นได้  และถ้าเรามีความจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  เราก็ย่อมได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเช่นกัน

                จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน  มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล  ดังต่อไปนี้

                1. ช่วยให้เกิดความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์  เช่น  รู้ว่าอะไรเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  มนุษย์เกิดความรู้สึกอย่างไรเมื่อไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตนเองได้  และอะไรเป็นแรงผลักดันให้คนแสดงพฤติกรรมต่างกัน

                2. ช่วยในการปรับตัวและแก้ปัญหาทางจิตใจของตนเอง  เช่น รู้วิธีรักษาสุขภาพจิตของตนเอง  รู้วิธีเอาชนะปมด้อย  วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  และขจัดความวิตกกังวลต่าง ๆ ได้

                3. ช่วยให้เกิดการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น  สามารถเข้าใจและรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่น

                ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจิตวิทยามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  เราจึงควรเรียนรู้  และนำหลักจิตวิทยามาใช้  เพื่อชีวิตของเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากขึ้น  ในทางจิตวิทยาถือว่าผู้ที่สามารถใช้จิตวิทยาในการดำเนินชีวิต  ควรมีลักษณะดังนี้

                1. สนใจและเข้าใจในความคิด  ความรู้สึกของคนรอบข้าง

                2. รับรู้และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่นได้ดี

                3. รู้  เข้าใจศักยภาพและส่งเสริมความรู้ความสามารถของผู้อื่นได้อย่างถูกทาง

                4. มีความจริงใจต่อกัน  เพราะความจริงใจเป็นรากฐานของความผูกพันที่ลึกซึ้ง

ไม่มีความคิดเห็น: