14 พ.ค. 2554

อย่าจำนนกับ “กรรมเก่า”

คำถามที่ได้มีผู้สอบถามไปยังท่าน ว.วชิรเมธี

“ปัจจุบันนี้ คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นสิ่งที่คนมักจะพูดถึงเมื่อต้องประสบเคราะห์กรรม ว่ากันว่าการที่เราต้องพบกับความทุกข์ ล้วนเป็นผลจากอดีตที่เราทำผิดพลาดไว้กับผู้อื่น และผู้นั้นก็จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราในชาติปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้ชดใช้กรรมที่ได้กระทำไว้ อยากกราบเรียนว่า ความคิดดังกล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่ และทุกคนต้องมีเจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า...การชดใช้กรรมจะมีวันจบสิ้นหรือไม่ หรือจะต้องวนเวียนอยู่เช่นนั้นไม่มีวันจบสิ้นใช่หรือไม่”

คำตอบของท่าน ว.วชิรเมธีค่ะ

๑. ความคิดที่ว่า ชีวิตของเราในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจาก “กรรมเก่า” ในอดีตทั้งหมดนั้น นับเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และไม่ใช่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วย แต่เป็นลัทธิคำสอนนอกพระพุทธศาสนา ที่มีมาก่อนแล้ว ซึ่งเราต้องแยกออกจากพุทธศาสนา ไม่เอามาประปนกัน มี ๓ ลัทธิ คือ

๑.๑ ลัทธิแล้วแต่กรรมเก่า
ลัทธินี้มีความเชื่อว่า ชีวิตปัจจุบันล้วนเป็นผลมาจากกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนทั้งสิ้น ผลเสียก็คือ ทำให้เราต้อง “ก้มหน้ารับกรรม” เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรในชีวิตนี้ได้เลย เพราะเหตุอยู่ในชาติที่แล้ว ชาตินี้ต้องรับผลอย่างเดียว จะแก้ไขเหตุก็ไม่ได้ เพราะเป็นคนละภพละชาติ ลัทธินี้คือ ที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เกิดมาใช้กรรม”

๑.๒ ลัทธิเทพเจ้าบันดาล
ลัทธินี้มีความเชื่อว่า ชีวิตของมนุษย์ล้วนถูก “ลิขิต” มาแล้วจากเทพเจ้าเบื้องบน ในความเชื่อแบบอินเดียโบราณเราเรียกชื่อลัทธินี้ว่า “พรหมลิขิต” กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์นั้นถูก “เขียนบท” มาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นจนจบ มนุษย์คือ ของเล่นในหัตถ์แห่งเทพเจ้า เมื่อเชื่อเช่นนี้ ผลเสียก็คือ มนุษย์หมดอิสรภาพในการบริหารจัดการชีวิตของตนเอง จะทำอะไรต้องเงยหน้าหาเทพเจ้า นี่คือที่มาของการทำพิธีบวงสรวง บูชา เซ่นไหว้เทพเจ้ากันเป็นการใหญ่ แต่ก็แทบไม่ช่วยให้อะไรในชีวิตดีขึ้นเพราแท้ที่จริง เทพเจ้านั้นเกิดขึ้นมาจากจินตนาการของมนุษย์เองทั้งสิ้นกล่าวให้ถูกก็ต้องบอกว่า มนุษย์สร้างเทพ ไม่ใช่เทพสร้างมนุษย์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเช่นนี้ ในเมืองไทยของเรามีแนวโน้มที่จะเป็นสังคม “เทวนิยม” เต็มรูปแบบมากขึ้นทุกที มองไปทางไหนก็มีแต่เทพสารพัดเทพ แต่ไม่เคยสังเกตกันบ้างหรือว่า เทพเต็มบ้านเต็มเมือง แต่บ้านเมืองกลับเต็มไปด้วยวิกฤติไม่จบไม่สิ้น

๑.๓ ลัทธิบังเอิญ
ลัทธินี้มีความเชื่อว่า ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์นั้นไม่มีแบบแผนอะไรเลย (ตรงกันข้ามกับสองลัทธิแรก) อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะเป็นก็ต้องเป็น (whatever will be, will be) ไม่ต้องไปสืบหาต้นสายปลายเหตุให้ยุ่งยาว เราเรียกอีกอย่างว่าลัทธิแล้วแต่โชคชะตาวันไหนจะซวย วันไหนจะเฮง ก็ไม่รู้ สิ่งต่างๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยเมื่อเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ปล่อยชีวิตเป็นไปตามยถากรรม หรือ ตามเวรตามกรรม อย่างที่เราคนไทยใช้คำว่า “แล้วแต่ดวง”
สามลัทธินี้เป็นลัทธิความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา เมื่อเราเชื่อมั่นศรัทธาแล้ว ทำให้เราหมดสิทธิ์ที่จะบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง ทำได้อย่างดีก็เพียง “ยอมจำนน” ต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิต ไม่ยอมแก้ไข กลายเป็นคนที่ไม่ลุกขึ้นสู้ และปล่อยให้คนอื่นเอาเปรียบตัวเอง แล้วก็ไปยกให้ว่าเป็นเพราะกรรมเก่า หรือเจ้ากรรมนายเวร หรือเทพเจ้าบัญชาไว้แล้ว นี่นับเป็นวิธีคิดอันตรายที่ทำให้คนเอาแต่งอมืองอเท้า

      ส่วน “พุทธศาสนา” ของเรานั้นท่านสอนว่า เราสามารถบริหารจัดการชีวิตได้ เพราะชีวิตเป็นอนิจจัง คือเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเราสร้างเหตุดีชีวิตก็ดี สร้างเหตุไม่ดี ชีวิตก็แย่ ชีวิตไม่ใช่อะไรสักอย่างหนึ่งซึ่ง “ติดแหง็ก” อยู่อย่างเดิมตลอดกาล และเทพเจ้าก็ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นเราต้อง “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” (ตนเป็นที่พึ่งของตน) ลัทธิสุดท้ายนั้น ท่านให้แก้ด้วยการอธิบายว่า ไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้ที่เกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญ ไอน์สไตน์เองก็เคยกล่าวว่า “พระเจ้าไม่เคยทอดลูกเต๋ามั่วๆ” นี่นับเป็นทัศนะที่ถูกต้อง เมื่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆล้วนมี “เหตุปัจจัย” หรือ “ระเบียบในตัวเอง” ถ้าเราล่วงรู้และสามารถจัดสรรเหตุปัจจับ (เงื่อนไข) ต่างๆ ได้ เราก็สามารถวางแผนที่จะบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี นี่คือ สัมมาทัศนะ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ และช่วยกันเผยแพร่ออกไป เพื่อลดมิจฉาทัศนะออกไปจากสังคมไทยของเรา

๒. เจ้ากรรมนายเวรก็คือ คนที่เคยอาฆาตพยาบาทกันมา หรือ คนที่ผูกใจเจ็บกันไว้ไม่ยอมปล่อยวาง เจ้ากรรมนายเวรจึงมีอยู่ทั้งชาติที่แล้วและในชาตินี้ (คนที่เป็นศัตรูกัน) เราไม่จำเป็นต้องมีเจ้ากรรมนายเวรกันทุกคน มีบางคนเท่านั้นที่เคยก่อกรรมทำชั่วห้ำหั่นกันมาแล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมให้อภัยซึ่งกันและกัน จึงมีเจ้ากรรมนายเวรเพียงอย่างเดียว (อนุโลมแนวคิดนี้เข้ากับแนวคิดเทพเจ้าบันดาลและกรรมเก่า) ยังขึ้นอยู่กับ “วันนี้” และ “ชีวิตนี้” ของเราด้วย ดังนั้นจึงไม่ต้องไปเสียเวลาห่วงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หรือไม่ต้องพยายามอธิบายปัญหาของชีวิตว่าเป็นเพราะเจ้ากรรมนายเวร เพราะจะทำให้เราหมดสิทธิ์บริหารจัดการชีวิตในวันนี้ไปโดยปริยาย

๓. การใช้กรรมเป็นสิ่งที่สามารถทำให้หมดสิ้นได้ ถ้าเราสร้างความดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จงดูอย่างองคุลิมาล ที่ฆ่าคนมากมาย แต่สุดท้ายท่านก็ไม่ได้ถูกฆ่า แถมท่านยังลอยพ้นกรรมขึ้นไปกลายเป็นพระอริยบุคคลอีกต่างหาก ดังนั้น ควรเชื่อใหม่และพูดใหม่ว่า เราไม่ได้เกิดมาใช้กรรม (เท่านั้น) แต่เราเกิดมาเพื่อเปลี่ยนกรรม พัฒนากรรม และอยู่เหนือกรรมก็ได้ด้วย

     หวังว่าที่กล่าวมาจะทำให้คุณสามารถแยกว่าอะไรเป็นพุทธ อะไรเป็นความงมงายได้บ้างตามสมควร และจากนั้นก็ขอให้มีกำลังใจในการ “พัฒนาชีวิต” ให้หลุดพ้นจากความเชื่อแบบไร้สารถทั้งหลายหันมาสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตด้วยปัญญาของมนุษย์อย่างเสรีด้วยตัวเองจริงๆ

      อย่าลืมว่า เราไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์กันง่ายนัก ดังนั้นจึงไม่ควรเอาเวลาไปเสียกับเรื่องไร้สาระทั้งหลาย สงสัยอะไรขอให้ลุกขึ้นมาสืบค้นให้รู้จริงๆ ทิ้งเปลือกแล้วเลือกแก่น ชีวิตจะได้มีพัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่อยู่กับสิ่งจอมปลอมไปวันๆ แล้วก็พานคิดไปว่านั่นคือ “พุทธศาสนา”


ที่มา. เรื่อง “อย่าจำนน กับ กรรมเก่า” โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
จากนิตยสาร “ซีเคร็ต”

ไม่มีความคิดเห็น: