AHA กับ BHA
เป็นวิธีการเบื้องต้นในการผลัดเซลล์ผิวจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น alpha hydroxy acid (AHA) หรือ beta hydroxy acid (BHA) ซึ่งตัวหลังนี้มีอยู่ชนิดเดียวเท่านั้นคือ Salicylic acid ในขณะที่ AHA มีค่อนข้างหลากหลายตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็น Glycolic, Lactic, Malic, Citric, Mandelic และ Tartaric
สิ่งที่ AHA และ BHA ทำหน้าที่เหมือนกันก็คือ ทำให้เซลล์ผิวเก่าที่อยู่ชั้นนอกสุดของผิวแยกออกจากการเกาะตัวกันแล้วหลุดออกไป เพื่อให้ผิวใหม่ที่มีสุขภาพดีกว่าได้ขึ้นมาอยู่ที่ชั้นบนสุดแทน การขจัดเซลล์ผิวเก่าออกไปได้นั้นจะทำให้สภาพผิวแลดูดีขึ้นทั้งโครงสร้างและสีผิว ไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ช่วยให้ครีมบำรุงผิวซึมลงผิวได้ดียิ่งขึ้น ทั้ง AHA และ BHA นั้นก็ทำงานโดยให้ผลกับผิวชั้นนอกสุด ในคนที่ผิวถูกแสงแดดทำลายจะทำให้ผิวชั้นนอกสุดหนามากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการปกป้องผิวจากแสงแดดตามธรรมชาติ ทำให้ผิวแลดูหมองคล้ำ หยาบกร้าน ไม่เรียบ เนื่องจาก AHA และ BHA ทำงานโดยกระบวนการทางเคมี ดังนั้นจึงทำให้การซึมลงผิวและผลที่ได้ดีกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขัดผิว ที่เพียงแค่เปิดผิวและรูขุมขนเท่านั้น และการใช้ AHA หรือ BHA ก็ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงใด ๆ กับผิว โดยเทคนิคแล้วการทำงานของ AHA และ BHA จะลงไปที่ผิวจนถึงจุดหนึ่งของระยะเวลาที่เพียงแค่ลอกเอาเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือเซลล์ผิวที่ถูกทำลายให้หลุดออกไป เพื่อให้ผิวใหม่ได้เผยออกมาได้แทน ดังนั้นจึงจะเห็นว่าการผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีนี้จะต้องมีเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมในการทิ้งให้ออกฤทธิ์บนผิวหน้า ผลที่ได้จากกการใช้วิธีนี้ในครั้งแรก ๆ (เมื่อผิวเก่าที่เคยสะสมไว้ ผิวหยาบกร้าน สีผิวไม่สม่ำเสมอ ได้ถูกลอกออกไป) จะรู้สึกว่าผิวดีขึ้นชัดเจนกว่าการใช้อย่างต่อเนื่อง (เพราะการใช้ต่อเนื่องต้องใช้ในความเข้มข้นต่ำ ค่อย ๆ ผลัดทุกวัน จึงไม่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเท่ากับการใช้ความเข้มข้นสูง แล้วนาน ๆ ทำครั้ง) และหลังจากการลอกเซลล์เก่าออกไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA หรือ BHA เพื่อคงความสดใส เนียนเรียบของผิวให้ยาวนานขึ้นไปเรื่อย ๆเป็นประจำทุกวัน
ข้อแตกต่างที่สำคัญมากระหว่าง AHA และ BHA คือ AHA ละลายในน้ำ ส่วน BHA นั้นละลายในน้ำมัน คุณสมบัติที่โดดเด่นเช่นนี้ของ BHA จึงทำให้สามารถซึมเข้าไปได้ในรูขุมขนซึ่งมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จึงสามารถผลัดลอกเซลล์ผิวเก่าที่สะสมอยู่ในรูขุมขนที่อาจทำให้อุดตันหลุดออกไปได้ BHA จะให้ผลดีเมื่อใช้ในบริเวณที่มีสิวอุดตันแบบหัวดำหรือผิวสีหมองคล้ำ ส่วน AHA ก็จะเหมาะสำหรับผิวที่ถูกแสงแดดทำลาย, ผิวหยาบกร้านหนา, ผิวแห้ง และต้องไม่เป็นสิวอักเสบ
สำหรับเปอร์เซนต์ที่เหมาะสมในการใช้ AHA และ BHA กับผิว
AHA จะให้ผลดีที่สุดที่ความเข้มข้น 5%-10% ที่ค่า pH 3-4 และจะลดประสิทธิภาพลงเมื่อใช้ที่ค่า pH สูงกว่า 4.5
BHA จะให้ผลดีที่สุดที่ความเข้มข้นระหว่าง 1-2% ที่ค่า pH 3 และจะลดประสิทธิภาพลงเมื่อใช้ที่ค่า pH มากกว่า 4
ทั้ง AHA และ BHA จะสูญเสียประสิทธิภาพเมื่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมอื่นมีค่า pH เพิ่มขึ้น หรือความเข้มข้นของตัวเองลดลง หากบริษัทผลิตเครื่องสำอางไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้น และค่า pH ที่เหมาะสมของ AHA หรือ BHA ในผลิตภัณฑ์ (และบริษัทส่วนใหญ่มักไม่ค่อยแจ้งข้อมูลดังกล่าว) แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ น่าเชื่อถือหรือว่าจะให้ผลในการผลัดเซลล์ผิวได้จริง??? ปกติแล้วจะเป็นการดีที่สุดหากว่า AHA ที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์นั้นเป็นส่วนผสมหลักอันดับที่สอง หรืออันดับที่สามจากในรายการส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จะมีความเข้มข้นที่ 5% หรือมากกว่านั้นสำหรับส่วนผสมที่เป็น AHA ในส่วนของ Salicylic เนื่องจากความเข้มข้นที่เหมาะสมอยู่ที่ 2-0.5% ดังนั้นจึงควรจะอยู่ในลำดับกลาง ๆ หรือท้าย ๆ ของรายการส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ AHA นั้นมีคุณสมบัติอีกอย่างคือช่วยเก็บกักน้ำไว้ในผิวในขณะที่ทำการผลัดลอกเซลล์ผิวไปพร้อมกัน และยังช่วยเพิ่มการผลิต ceramides ในผิว (ซึ่งทำหน้าที่เป็นกำแพงไขมันที่ป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง) จึงทำให้ผิวชุ่มชื่นและสุขภาพดี
BHA นั้นซึมเข้าไปในรูขุมขนได้ลึกกว่า AHA และไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือถ้าระคายเคืองก็น้อยกว่า AHA มาก อันเนื่องมาจาก BHA นั้นเป็นชนิดที่คล้ายกับแอสไพริน (Acetylsalicylic acid) ซึ่งจะมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่มีอยู่แล้วในตัว
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ BHA นั้นช่วยทำให้ผิวเรียบเนียน ผลัดลอกเซลล์ผิวที่ถูกทำลายโดยแสงแดด ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ ปรับปรุงโครงสร้างผิวให้ดีขึ้น แก้ปัญหารูขุมขนอุดตัน และทำให้ผิวดูเปล่งปลัง กระชับ เต่งตึง (เนื่องจากผิวใหม่ที่สุขภาพดีได้ขึ้นมาแทนที่เซลล์ผิวเก่าที่หลุดออกไปโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA) เสียเพียงแต่ว่า BHA ไม่มีผลต่อเนื่องยาวนาน เมื่อไหร่ที่คุณหยุดใช้ ผิวก็จะกลับไปเหมือนเดิม คือสภาพผิวก่อนหน้าที่จะเริ่มใช้
Reference
- Archives of Dermatologic Research
- Dermatologic Surgery
- Experimental Dermatology
- Global Cosmetic Industry
- Dermatologic Surgery
- Experimental Dermatology
- Global Cosmetic Industry
แปลและเรียงเรียงโดย Acnethai.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น